Knowledge Article


Sleep Apnea : ง่วง นอนกรน นอนไม่อิ่ม


เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
60,139 View,
Since 2011-05-22
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/22d6uy4c
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจเป็นระยะๆหรือมีการหายใจตื้นๆสลับกับการหายใจที่เป็นปกติในระหว่างที่นอนหลับ ซึ่งช่วงการหยุดหายใจดังกล่าวอาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจยาวเป็นนาทีก็ได้ โดยมักเกิด 5-30 ครั้งหรือมากกว่าในเวลา 1 ชั่วโมง ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ และมีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงระหว่างวันตามมา ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น การหลับขณะขับรถ เป็นต้น รวมทั้งสมาธิและความจำก็จะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปด้วย

   โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่พบนั้นจะเป็นประเภทที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ (obstructive sleep apnea) มีสาเหตุมาจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ทางเดินหายใจ การหนาตัวของเนื้อเยื่อผนังคอในผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาก การโตของต่อมทอนซิลในเด็ก หรือภาวะเนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งการที่อากาศต้องเดินทางผ่านทางเดินหายใจที่แคบลงสามารถก่อให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้

   อีกประเภทหนึ่งที่พบได้น้อยกว่านั่นคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องความผิดปกติของการสั่งงานของสมอง (central sleep apnea) ภาวะนี้สมองส่งสัญญาณควบคุมที่ผิดปกติไปยังกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการหยุดหายใจชั่วครู่

 อันตรายหรือไม่? หายานอนหลับมารับประทานเองได้หรือไม่?

   การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงมีการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจ เมื่อเกิดการหยุดหายใจบ่อยๆ ผู้ป่วยจึงหลับๆตื่นๆตลอดคืนและไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับและตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น จากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลงประกอบกับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ส่งผลเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวาย นอกจากนี้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่ได้รับการรักษายังสามารถนำไปสู่การใช้พลังงานของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะอ้วนและเบาหวาน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยบางรายที่รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับนั้นจะพยายามหายานอนหลับมารับประทางเองเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งยานอนหลับบางชนิดที่ออกฤทธิ์กดประสาทแรง เช่น midazolam, alprazolam และ diazepamจะมีผลกดการกระตุ้นของร่างกายที่ทำให้ตื่นขึ้นเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ดังนั้นการใช้ดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตจากการหยุดหายใจได้ เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่ควรหายามาใช้เอง

 ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง?

   ภาวะหยุดหายใจขณะหลับพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีการพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้หญิงมักเริ่มมีภาวะนี้เมื่อตั้งครรภ์และเข้าสู่วัยทอง นอกจากนี้บุคคลที่มีโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจแคบ ไม่ว่าจะเพราะโครงสร้างแต่กำเนิด ภูมิแพ้ หรือผลจากการใช้ยาบางชนิด มีแนวโน้มที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าปกติ

 จะสังเกตได้อย่างไร?

   ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากอาการต่อไปนี้

  • การกรน ถือเป็นอาการหลักเนื่องจากการเกิดเสียงกรนเป็นลักษณะที่พบมากในผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับประเภทที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ และประเภทดังกล่าวเป็นประเภทที่พบได้มากดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่มิได้หมายความว่าผู้ที่มีอาการกรนทุกคนจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การกรนที่เกิดขึ้นอาจมีการหยุดเป็นช่วงๆร่วมกับการสำลักซึ่งการสังเกตดังกล่าวต้องอาศัยคนในครอบครัวหรือคนรอบตัวเป็นผู้สังเกต
  • อาการอ่อนล้าเมื่อตื่นนอนตอนเช้า หรือรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่มทั้งๆที่นอนพักผ่อนเต็มที่แล้ว
  • อาการง่วงมากผิดปกติในช่วงระหว่างวัน จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานหรือเรียนลดลง
  • ในเด็กอาจหงุดหงิดง่าย สมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้น ท่านอนผิดปกติ หรือปัสสาวะราดที่นอนในเวลากลางคืน

 ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

   เมื่อเริ่มสังเกตหรือสงสัยว่าอาจมีภาวะดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 มีวิธีการรักษาหรือไม่? อย่างไรบ้าง

   วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีหลากหลายตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้เครื่องมือช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งการตัดสินใจเลือกใช้วิธีใดนั้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสมตามแต่ละบุคคล จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์

   1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางแรง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาทบางชนิด
  • ควบคุมน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกิน
  • เปลี่ยนท่าทางในการนอนเป็นท่านอนตะแคง หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าท่านอนตะแคง
  • เลิกการสูบบุหรี่

   2. การใช้เครื่องมือ

  • อุปกรณ์ mouthpieceช่วยปรับให้กรามล่างและลิ้นอยู่ในลักษณะที่ไม่ปิดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
  • เครื่องมือcontinuous positive airway pressure (CPAP) ลักษณะเป็นหน้ากากที่จะให้ลมที่ความดันเป็นบวกออกมา ทำให้ทางเดินหายใจไม่เกิดการอุดกั้น

   3. การผ่าตัด

   ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจและการดูแลของแพทย์

References

  • National Heart, Lung and Blood Institute. Sleep Apnea [Online]; 2010. Available form: http://www.nhlbi.nih.gov/health/dci/Diseases/SleepApnea/SleepApnea_WhatIs.html [Accessed 2011 Feb 4]
  • ปารยะ   อาศนะเสน. อาการนอนกรน(Snoring) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(Obstructive Sleep Apnea) [Online]; 2010. Available form: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=332 [Accessed 2011 Feb 4]

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.