Knowledge Article


ยาเม็ดโปแทสเซียมไอโอไดด์ ( ไอโอดีนเม็ด ) (KI) ป้องกันสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 131


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
105,673 View,
Since 2011-04-10
Last active: 1 days ago
https://tinyurl.com/ycb6jckg
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ก็มีแต่คนพูดถึงสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากเหตุระเบิดนั้น และหวาดวิตกถึงอันตราย จนเกิดคำถามว่าจะมีวิธีป้องกันไหม และจะมียาอะไรใช้ป้องกันได้บ้าง ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังนะครับ

สารกัมมันตรังสีคืออะไร? มีอันตรายอย่างไร?

สารกัมมันตรังสีคือแร่ธาตุที่ไม่คงตัว เมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปรังสี ซึ่งสามารถทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ได้ หากได้รับรังสีในปริมาณมาก ก็อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในทันทีและอาจเสียชีวิตได้แต่ถ้าได้รับรังสีในปริมาณน้อย ก็อาจไม่พบความผิดปกติในทันที  โดยอาจพบความผิดปกติในภายหลัง ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี

สารกัมมันตรังสีแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแตกต่างกัน เช่น ไอโอดีน 131 เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสะสมที่ต่อมไทรอยด์ เนื่องจากไอโอดีนเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ ถ้าร่างกายได้รับไอโอดีน 131 ในปริมาณมาก เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์อาจถูกทำลาย ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนดังกล่าว นอกจากนี้ไอโอดีน 131 ในปริมาณมาก อาจทำให้เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ด้วย

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีได้ที่ เว็ปไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล



(รอบรู้เรื่องสารกัมมันตรังสี)

 สารกัมมันตรังสีมีโอกาสแพร่กระจายมาถึงเมืองไทยอย่างไร? และมาตรการป้องกันของประเทศไทย

  (1) ไอโอดีน 131 มีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ลอยไปได้ไกลตามกระแสลม และเข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจแต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ทางทิศใต้ของญี่ปุ่น ประกอบกับขณะนี้ลมพัดจากญี่ปุ่นไปทางทิศตะวันออก ไปทางสหรัฐอเมริกา แคนาดา จึง มีโอกาสน้อยที่สารกัมมันตรังสีชนิดนี้จะมาถึงประเทศไทย แต่ถ้าลมเปลี่ยนทิศและพัดมาทางประเทศไทย กระแสลมจะต้องพัดผ่านภูเขา ทะเล และอีกหลายประเทศ ทำให้ลมที่พัดมาเหลือสารกัมมันตรังสีในระดับที่น้อยลง

   มาตรการของประเทศไทยมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณรังสีในอากาศทั่วประเทศเพื่อป้องกันอันตรายต่อประชาชนในหลายจังหวัดเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ เป็นต้น หากตรวจพบปริมาณรังสีสูงกว่า 1 ไมโคร
ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (µSv/h)กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ประกาศเตือนภัยและชี้แจงและให้คำแนะนำต่อไปปัจจุบัน “ไม่พบ” ปริมาณรังสีที่ผิดปกติ

   (2) อาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะ ซีเซียม137 เนื่องจากสารดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นอนุภาคขนาดเล็ก มักปนเปื้อนในอาหาร และเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน

  มาตรการของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 โดยสุ่มตัวอย่างส่งตรวจวัดสารกัมมันตรังสี ณ ด่านอาหารและยาทุกแห่ง รายงานผลการตรวจครั้งที่ 9 (ข่าวแจกวันที่ 30 มีนาคม 2554) ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ   ท่านสามารถติดตามผลตรวจวัดสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก <a href=http://www.fda.moph.go.th/japan/Index.html>LINK นี้</a>

 วิธีป้องกันสารกัมมันตรังสีมีวิธีอะไรบ้าง

วิธีที่มีการแนะนำคือการรับประทานยาโปแทสเซียมไอโอไดด์ (potassium iodide; KI)ยานี้ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาและได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ในการป้องกันต่อมไทรอยด์จากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ที่รั่วและแพร่กระจายออกมาจากเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ แต่ไม่มีผลป้องกันผลจากการได้รับสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ ข้อสำคัญที่ควรทราบด้วยคือ โปแทสเซียมไอโอไดด์ จะป้องกันเฉพาะต่อมไทรอยด์เท่านั้น ไม่ป้องกันร่างกายส่วนอื่นๆ 

แต่ที่ไม่แนะนำคือ

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาทาแผลที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนเช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีนเนื่องจากไม่ใช่วิธีมาตรฐานในการป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ถึงแม้ว่าการทายาดังกล่าวอาจมีไอโอดีนดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าปริมาณยาที่ดูดซึมจะเพียงพอต่อการป้องกัน เพราะการดูดซึมยาขึ้นกับหลายปัจจัย และปัจจุบันยังขาดข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ
  • ไม่แนะนำให้รับประทานเกลือบริโภค หรือเกลือเสริมไอโอดีนเนื่องจากต้องรับประทานเกลือบริโภคในปริมาณมาก ถึงจะสามารถป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีได้ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เกลือบริโภคจะต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม) นอกจากนี้ ในเกลือบริโภคมีส่วนประกอบเป็นเกลือโซเดียม ซึ่งหากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากจะเกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญในร่างกายเช่น หัวใจและไต เป็นต้น 

ถ้าจะเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงในญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์หรือไม่

ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ควรหาข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าพื้นที่ใดที่เสี่ยงและจำเป็นต้องรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์ หรืออาจสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศไทยประจำจุดคัดกรองผู้โดยสารขาออก
ณ สนามบินขนาดใหญ่เช่น สุวรรณภูมิ และสนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้องค์การเภสัชกรรมผลิตโปแทสเซียมไอโอไดด์ชนิดเม็ด หรือไอโอดีนเม็ด เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงในประเทศญี่ปุ่นโดยต้องผ่านการคัดกรองความจำเป็นก่อน

 โปแทสเซียมไอโอไดด์ทำงานอย่างไร?

โปแทสเซียมไอโอไดด์ที่รับประทานเข้าไป จะถูกร่างกายเปลี่ยนให้อยู่ในรูปไอโอดีน ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าไปเก็บสะสมที่ต่อมไทรอยด์ ไอโอดีนที่ได้จากโปแทสเซียมไอโอไดด์นี้ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ซึ่งต่างจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 เมื่อต่อมไทรอยด์อิ่มตัวด้วยไอโอดีนที่ได้จากโปแทสเซียมไอโอไดด์ จึงทำให้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ไม่สามารถเข้าไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์ได้อีก และจะถูกขับออกจากร่างกาย

 โปแทสเซียมไอโอไดด์ ใช้อย่างไร?

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ในขนาด 130 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับเด็กตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ โดยควรรับประทานก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยงหรือได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 อย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 และแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะออกจากบริเวณพื้นที่เสี่ยง การรับประทานยาวันละครั้งมีความจำเป็นเนื่องจากยามีผลป้องกันเป็นเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามหากรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์หลังจากได้รับสารกัมมันตรังสีแล้ว จะมีประสิทธิภาพลดลง
ยิ่งได้รับช้าเท่าใดจะมีผลป้องกันน้อยลงเท่านั้น มีข้อมูลว่าการรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์หลังจากที่ได้รับไอโอดีน131 ไปแล้ว 3-4 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงร้อยละ 50 แต่หากเกิน 6 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่มีการศึกษายืนยัน 

ใครที่ห้ามใช้ โปแทสเซียมไอโอไดด์ ?

ผู้ที่มีประวัติแพ้ไอโอดีน เป็นโรคผิวหนังอักเสบบางชนิด หรือเป็นโรคไทรอยด์ที่มีความผิดปกติของหัวใจร่วมด้วย

 โปแทสเซียมไอโอไดด์ก่ออันตรายอะไรบ้างไหม ?

โปแทสเซียมไอโอไดด์ก่ออันตรายได้ ดังนี้

  • อาการข้างเคียง ได้แก่ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน ต่อมน้ำลายอักเสบ  และยังอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อหัวใจ โดยมีหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากยามีส่วนประกอบของโปแทสเซียม โดยเฉพาะหากมีการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ระดับโปแทสเซียมสูงร่วมด้วยให้ระมัดระวังอาการข้างเคียงนี้เป็นพิเศษ
  • ผู้ใช้ยาบางรายอาจเกิดอาการแพ้ โปแทสเซียมไอโอไดด์ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต สังเกตได้จากการมีเสียงหวีดหวิวในหลอดลม มีไข้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ไออย่างรุนแรง และอาการบวมที่ปาก ใบหน้า และลำคอ เป็นต้น
  • การใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ร่วมกับยาหลายชนิดจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา หรือยาตีกัน  ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการใช้ยา จึงควรระมัดระวังและแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบว่าใช้ยาใดอยู่ เช่น หากใช้ยาลดความดันโลหิตที่มีผลเพิ่มระดับโปแทสเซียม อยู่ แล้วจะใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ ก็จะทำให้ระดับโปแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 หญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรใช้ยานี้ได้หรือไม่

หญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรหากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัย การรับประทานโปแทสเซียมไอโอไดด์นับว่าเป็นประโยชน์เพราะจะช่วยป้องกันทั้งแม่และทารก เนื่องจากยาสามารถผ่านรกและถูกขับออกมาในน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม โปแทสเซียมไอโอไดด์เป็นยาที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกได้ด้วย การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือมารดาที่ให้นมบุตรที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับสารกัมมันตรังสี จึงควรพิจารณาระหว่างประโยชน์และโทษก่อนที่จะใช้ยานี้ และหากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น  

 โปแทสเซียมไอโอไดด์จะเก็บรักษาอย่างไร

โปแทสเซียมไอโอไดด์ควรเก็บในภาชนะบรรจุที่แห้ง ปิดมิดชิด เก็บให้พ้นแสง และต้องระวังความชื้นเนื่องจากโปแทสเซียมมีคุณสมบัติในการดึงน้ำเข้าหาตัว ทำให้เม็ดยาชื้นและสีเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นหากสังเกตว่าเม็ดยาชึ้นและและสีเปลี่ยนแปลงไปไม่ควรรับประทานยานี้ 

สรุป

การใช้โปแทสเซียมไอโอไดด์ แม้จะเป็นยาที่แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังดังที่กล่าวมาข้างต้นนะครับ

 บทความโดย   เภสัชกร มรุพงษ์ พชรโชค

ร้านยาเภสัชมหิดล (สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน)
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บรรณานุกรม  

  1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เกลือบริโภค.2010; [2 screens]. Available at URL:http://newsser.fda.moph.go.th/food/file/Laws/Notification%20of%20Ministry%20of%20PublicHealth/Law03P321.pdf.  Accessed March 25,2010
  2. Potassium Iodide. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Mar 30. Available from: MICROMEDEX® 2.0 Healthcare Series; 2011. [cited 2011 Mar 25].
  3. กลุ่มงานด้านวิชาการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. ความจำเป็นของคนไทยต่อการรับประทานโพแทสเซียมไอโอไดด์จากการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น. 2011; [3 screens]. Available at URL: http://www.oaep.go.th/dt_news1.php?id=818Accessed March 25,2010
  4. กลุ่มงานด้านวิชาการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน อันตราย และการป้องกัน. Available at URL: http://www.oaep.go.th/dt_news1.php?id=809Accessed March 25,2010
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.