Knowledge Article


ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไร ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า?


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://sandyandrich.com/wp-content/uploads/sites/122/2017/11/Check-up.jpg
11,215 View,
Since 2019-01-27
Last active: 4m ago
https://tinyurl.com/227xyqvy
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


กระแสความตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรคภัยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพ (health business) เกิดขึ้นมากมาย ผู้อ่านหลายท่านอาจได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำปี ณ สถานพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง อาจได้รับชมสื่อโฆษณาแบบแผนการประกันสุขภาพที่รวมโปรแกรมตรวจสุขภาพ ชูโรงเป็นจุดขาย รวมถึงการได้รับการเชิญชวนไปตรวจในรายการต่าง ๆ เช่น โปรแกรมตรวจสุขภาพ 25 รายการ โปรแกรมเจาะเลือดตรวจคัดกรองมะเร็ง 10 รายการ หรือ การตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย เพียงแค่เจาะเลือดวินิจฉัยมะเร็งได้ทุกโรค นอกจากนั้นอาจมีการโหมโฆษณาโดยมีนาฏกรรม (drama) เรียกความสนใจต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ได้อย่างดี คู่กับวลีที่ว่า "ไม่มาตรวจคัดกรอง รู้ช้า รักษาไม่ได้" หลายครั้งผู้บริโภคเข้ารับการตรวจครบทุกรายการเป็นประจำ แต่ท้ายที่สุดกลับพบว่าเป็นโรคร้ายแรงในระยะท้าย ๆ ทั้งที่ในปีที่ผ่านมาตรวจไม่พบโรคใด ๆ ทำให้หลายท่านสงสัยว่า เรายังควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำหรือไม่ และ ควรตรวจสุขภาพอย่างไร ให้ ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า ผมขอเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านศึกษาได้จากบทความนี้ได้เลยครับ



ภาพจาก : https://www.kentuckycare.net/wp-content/uploads/2018/10/places-to-get-a-physical-doctor-walk-in-clinic-Kentucky-annual-doctor-checkup.jpg

ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่ ตรวจเพื่ออะไร ?

การตรวจสุขภาพประจำปีจัดว่ามีความจำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคในอนาคตและสามารถวางแผน ปรับลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวิถีการดำเนินชีวิต รวมทั้งชนิดและขนาดยาที่รับประทาน เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การค้นหาโรคในระยะเริ่มต้น เพื่อหยุดยั้ง ป้องกัน รักษาโรคในระยะแรกได้ทันท่วงที เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคและมีชีวิตยืนยาว

ตรวจสุขภาพประจำปี เราควรตรวจโรคอะไรบ้าง ?

เมื่อเราย้อนมองผู้คนรอบข้างในสังคมไทย สาเหตุของการเสียชีวิตและทุพลภาพส่วนมากเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตไม่แพ้กันคือ โรคมะเร็ง ดังนั้นการตรวจสุขภาพควรตรวจคัดกรองภาวะ สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และ การไม่ออกกำลังกาย โรคที่ควรทำการตรวจคัดกรองในการตรวจสุขภาพประจำปี ควรเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหากไม่รักษาในระยะเริ่มต้นอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

กรณีของโรคมะเร็ง ชนิดของมะเร็งที่ควรตรวจคัดกรองควรเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และรักษาให้หายขาดได้เมื่อพบในระยะแรก โดยโรคมะเร็งที่แนะนำให้ตรวจคัดกรองในบุคคลทั่วไป คือ โรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในทั้งสองเพศ ในกรณีของโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ นั้น แนะนำให้ตรวจในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดดังกล่าวเท่านั้น เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง

ตรวจสุขภาพประจำปี ท่านควรตรวจอย่างไรดี ?

เนื่องจากสภาพชีวิตประจำวันแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน เช่น เพศ อายุ สถานที่ทำงาน การเดินทาง มลภาวะที่ได้รับ ย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคที่แตกต่างกัน การตรวจสุขภาพประจำปีย่อมมีความแตกต่างกัน โดยปรับให้เหมาะกับสภาพและปัจจัยของผู้เข้ารับการตรวจ เช่น ช่วงอายุ ปัจจัยเสี่ยง ประวัติครอบครัว ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย แนวทางการตรวจควรตรวจเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหมั่นสำรวจความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีการตรวจคัดกรองใดดีเท่ากับการใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยตัวของท่านเอง

ตรวจสุขภาพประจำปี เราควรตรวจด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง ?

แม้ว่าเทคโนโลยีการตรวจสารคัดหลั่งหรือการตรวจเลือดจะพัฒนาไปมากเพียงใด ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีการเดียวได้ การตรวจสุขภาพที่แม่นยำเพื่อคัดกรองและป้องกันโรคต้องอาศัยวิธีการร่วมกันแบบผสมผสาน จากนั้นแพทย์จะนำผลที่ได้มาใช้ในการแปลผลการวินิจฉัยโรค ไม่สามารถใช้ผลการตรวจเลือดหรือผลการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยโรคได้ ดังนั้นขั้นตอนในการตรวจสุขภาพต้องประกอบด้วย
  1. การซักประวัติโดยละเอียด
  2. การตรวจร่างกายตามระบบ
  3. การรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  4. การอ่านผลภาพรังสีวินิจฉัยตามข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ได้รับจากผู้ป่วย
ด้วยเหตุนี้หากผู้อ่านท่านใดได้รับข้อมูลจากนักธุรกิจสุขภาพว่า เพียงแค่เจาะเลือดครั้งเดียว สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็ง 10 ชนิดได้ ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากขาดการซักประวัติครอบครัวหรือปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในกรณีเดียวกัน แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วร่างกายโดยไม่มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

ตรวจสุขภาพประจำปี เรายังควรตรวจอยู่หรือไม่ ?

เรายังควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่อายุน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ สามารถเว้นระยะการตรวจเป็น ทุก ๆ 2-3 ปี แต่สำหรับบางท่านที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี อาจจะต้องตรวจถี่ขึ้นกว่าคนปกติทั่วไปปีละหลายครั้ง และควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์บริเวณช่องท้องในทุก 6 เดือน ท่านผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง มะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาหายได้ ดังนั้นความถี่ในการตรวจจะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

ตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เคยเจออะไร ? ไฉนเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ?

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมกับมะเร็งชนิดนั้น ๆ มะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยวิธีตรวจร่างกายปกติ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งปากมดลูก มะเร็งบางชนิดต้องอาศัยการตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น มะเร็งตับอาศัยวิธีการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มะเร็งทางเดินอาหารส่วนต้นและลำไส้ใหญ่ต้องอาศัยการส่องกล้องร่วมกับการซักประวัติครอบครัวและตรวจร่างกาย หากเลือกวิธีการตรวจที่ไม่เหมาะสม ถึงอย่างไรก็ตรวจไม่พบ ในกรณีของการเอกซเรย์ปอดเพื่อตรวจหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นเป็นประจำแล้วไม่พบ แต่กลับป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เนื่องจากการตรวจเอกซเรย์ปอดทั่ว ๆ ไปมีโอกาสพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นน้อยมาก ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจะใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบรังสีต่ำ (low dose CT scan) จึงจะได้ผลการตรวจที่แม่นยำ

ตรวจสุขภาพประจำปี ทุ่มทุนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งตัว ตรวจทุกค่าบ่งชี้มะเร็ง จำเป็นหรือไม่ ?

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า ดิฉัน หรือ กระผม ยอมทุ่มทุน ขอตรวจวินิจฉัยครบทุกรายการจะได้พบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะดีหรือไม่ ผู้เขียนขอตอบท่านเหล่านี้ว่า การตรวจหาค่ามะเร็งในเลือดที่ได้ยินตามโฆษณาจากนักธุรกิจสุขภาพ มีผลบวกและผลลบลวงสูงมาก ซึ่งสามารถอธิบายอย่างง่ายว่า การตรวจพบว่ามีค่าบ่งชี้มะเร็งสูงผิดปกติไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งชนิดนั้น ๆ และผลการตรวจค่าบ่งชี้มะเร็งที่ปกติ ไม่ได้รับประกันว่าท่านจะไม่เป็นมะเร็ง ทั้งนี้การตรวจได้ค่าบ่งชี้มะเร็งสูงผิดปกติ อาจสร้างความวิตกกังวลต่อผู้ป่วย และ นำไปสู่การสืบค้นข้อมูลอย่างตื่นตระหนก อาจทำให้ท่านมาพบกับบทความนี้โดยบังเอิญก็เป็นได้ ผู้ป่วยอาจเสียเวลาและรายจ่ายในการตรวจเพิ่มเติมและเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนในการตรวจเพิ่มเติมได้ ในปัจจุบันยังไม่มีค่าบ่งชี้มะเร็งในเลือดชนิดใด ๆ ที่ให้ผลแม่นยำในการตรวจคัดกรองมะเร็ง หากท่านต้องการเลือกวิธีการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ท่านต้องยอมรับกับผลกระทบที่ตามมาหลายประการ เช่น การได้รับสารรังสีในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง และ ในบางท่านต้องได้รับสารทึบรังสี สารเหล่านี้มีความเป็นพิษต่อไต อาจเกิดภาวะไตวายในผู้ป่วยที่มีโรคไต ท้ายที่สุดรอยโรคที่พบจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป นอกจากนั้นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่สามารถตรวจได้ในระยะเริ่มตันด้วยวิธีดังกล่าวนี้

ท้ายที่สุดนี้ การมีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จะเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนทรัพย์เสมอไป เพียงแค่ท่านผู้อ่าน ศึกษาองค์ความรู้ด้านสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังคงมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพเพราะสามารถค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้ภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีน ยา หรือ สารเคมี ผู้อ่านควรเลือกโปรแกรมการตรวจสุขภาพอย่างรู้ทันท่วงที เพื่อลดความวิตกกังวลและผลข้างเคียงที่จะตามมาได้ครับ ควรเลือกการตรวจสุขภาพประจำปีใน แนวทาง ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า เพื่อสุขภาพที่ดีของท่านผู้อ่านเองและบุคคลที่ท่านรัก สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิง
  1. https://myblue.bluecrossma.com/healthy-living/screening-guidelines-adults
  2. https://owlcation.com/stem/How-To-Understand-Your-Blood-Tests-Biochemistry
  3. https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/diagnosing-cancer/tests-and-procedures/tumor-marker-tests
  4. https://www.cancer.gov/about-cancer/diagnosis-staging/diagnosis/tumor-markers-fact-sheet
  5. ตรวจสุขภาพประจำปี ดีหรือไม่? อ.นพ.สุปรีชา อัสวกาญจน์ 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.