Knowledge Article


ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในโรคกระดูกพรุน
ด้วยตนเอง กับเครื่องมือ “แฟร็กซ์ (FRAX®)”


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://drhoffman.com/wp-content/uploads/2018/04/is_osteoporosiship_top.jpg
22,054 View,
Since 2018-11-30
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างของกระดูกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความพรุนมากขึ้น ความแข็งแรงและคุณภาพของกระดูกลดลง ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density หรือ BMD) ลดลงอย่างมาก สิ่งแสดงออกทางคลินิกที่สำคัญคือกระดูกหัก โดยเฉพาะการหักที่กระดูกสันหลัง (vertebral fracture) และการหักที่กระดูกสะโพก (hip fracture) แม้ว่าอาจพบการหักของกระดูกที่อื่นได้ด้วย โรคกระดูกพรุนพบมากในผู้หญิงวัยหมดระดู องค์การอนามัยโลก (WHO) พิจารณาความผิดปกติของกระดูกที่จะนำไปสู่โรคกระดูกพรุนจากค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกที่วัดด้วยเครื่อง dual-energy X-ray absorptiometry (DXA) โดยอาศัยตัวชี้วัดคือค่า T-score ซึ่งตัวเลขที่ระบุนั้นเป็นค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation หรือ SD) ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนวัยสาวที่เป็นชาวผิวขาว (ตาม WHO-1 ปี ค.ศ.1994) หากความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกินกว่า 2.5 SD (หรือค่า T-score ต่ำกว่า –2.5) ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเพียงอย่างเดียวเนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้ในการคำนวณหาค่าความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักด้วยเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" จึงนำปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดกระดูกหักรวมถึงน้ำหนักตัวและส่วนสูงจึงนำมาใช้ในการคำนวณด้วย



ภาพจาก : http://www.belltownchiro.com/images/easyblog_articles/60/b2ap3_large_Osteoporosis.jpg

FRAX® (Fracture Risk Assessment Tool) คืออะไร? "แฟร็กซ์ (FRAX®)" เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักที่สะโพกหรือกระดูกที่ตำแหน่งสำคัญ (ได้แก่ กระดูกสันหลังหักที่มีอาการทางคลินิก กระดูกสะโพก กระดูกต้นแขน และกระดูกแขน) ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เครื่องมือนี้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 โดยมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) ในสหราชอาณาจักร โดยอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูลของหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก คือ WHO Collaborating Centre for Metabolic Bone Diseases ช่วงปี ค.ศ. 1991-2010 ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาแบบ cohort ในหลายประเทศทั้งจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียและออสเตรเลีย ในการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจะอาศัยข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกและความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (กรณีที่ทราบ) ของกระดูกคอสะโพก (femoral neck) ข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง (ใช้คำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ body mass index หรือ BMI ได้) ประวัติการเกิดกระดูกหักของตนเองและของบิดามารดา การสูบบุหรี่ การได้รับยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

เครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มีประโยชน์อย่างไร?

การเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักส่งผลกระทบสูงทั้งด้านคุณภาพชีวิตและด้านเศรษฐศาสตร์เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ด้วยเหตุนี้จึงควรป้องกันไว้ก่อน การตรวจวัดค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงนั้นแม้เป็นวิธีที่ดี แต่มีความยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายมาก และไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเครื่องมืออื่นมาช่วยในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักด้วย ซึ่งรวมถึงเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" เครื่องมือนี้มีใช้มาประมาณ 10 ปีแล้ว เป็นที่นิยมมากเนื่องจากมีความสะดวก สามารถเข้าใช้งานได้ตลอดเวลาและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มีเวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือหากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหักควรพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปัจจุบันในแนวทางการรักษา (guidelines) โรคกระดูกพรุนของหลายองค์กรได้นำผลการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มาใช้ประกอบกันกับค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกในการพิจารณาให้การรักษาด้วยยา เช่น แนะนำว่าผู้ที่มีค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกที่อยู่ในเกณฑ์กระดูกบาง (osteopenia) ควรได้รับการรักษาหากผลการคำนวณด้วยเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มีค่าความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในระยะเวลาอีก 10 ปี กรณีกระดูกหักที่ตำแหน่งสำคัญเท่ากับหรือมากกว่า 20% หรือกรณีกระดูกสะโพกหักเท่ากับหรือมากกว่า 3% นอกจากนี้ค่าที่คำนวณด้วยเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" ยังนำมาใช้ประโยชน์ในการจำแนกความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในผู้ที่ใช้กลูโคคอร์ติคอยด์อีกด้วย

เข้าใช้งานเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" ได้อย่างไร?

สามารถใช้งานโดยผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/ โปรแกรมทำขึ้นใช้งานได้หลายภาษา ซึ่งปัจจุบันมีถึง 32 ภาษารวมถึงภาษาไทย เมื่อเข้าสู่โปรแกรมได้แล้ว ให้กรอกข้อมูลดังแสดงในรูป (รูปที่ 1ก) หากขาดข้อมูลบางอย่างแม้แต่ค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเครื่องมือดังกล่าวยังสามารถคำนวณความเสี่ยงได้เช่นกันแต่ความแม่นยำจะลดลง นอกจากนี้หากทราบค่า “trabecular bone score (TBS)” ซึ่งค่านี้มีความสัมพันธ์กับลักษณะโครงสร้างของกระดูก (skeletal microarchitecture) ซึ่งจะสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกระดูก (bone strength) และคุณภาพของกระดูก (bone quality) ชนิดที่เป็นกระดูกเนื้อโปร่ง (trabecular bone) สามารถนำมาใช้ปรับปรุงค่าความเสี่ยงที่คำนวณได้ (ในรูปที่ 1ก ตรงที่ระบุว่า “ปรับกับ TBS”) เครื่องมือนี้ใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุ 40-90 ปี ผู้ใช้สามารถระบุให้เครื่องมือคำนวณโอกาสเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักโดยใช้ค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (กรณีที่ทราบ) หรือคำนวณจากค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งมีให้เลือกจำนวนทั้งหมด 8 รายการ (รูปที่ 1ข)



พิมพ์ข้อมูลจากเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" นำไปใช้งานได้หรือไม่?

ผู้ที่ไม่สะดวกในการเข้าใช้งานเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" ทางเว็บไซต์ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลในรูปแบบเอกสารแผนภูมิ (paper chart ) ที่เป็นตารางบรรจุข้อมูลที่คำนวณเรียบร้อยแล้ว และพิมพ์ไปใช้งานได้ เอกสารแผนภูมินี้เป็นข้อมูลจำเพาะสำหรับแต่ละประเทศซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 58 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยตารางแสดงความเสี่ยงจะทำแยกไว้สำหรับสองกรณี คือกรณีที่ทราบค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกคอสะโพกและกรณีที่คำนวณโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย โดยแยกเป็นข้อมูลสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง ผู้ที่ใช้ข้อมูลจากแผนภูมิจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 50-90 ปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกที่มีผลต่อการเกิดกระดูกหักมีสูงสุดได้ถึง 6 ปัจจัยเสี่ยง (มีรายละเอียดปัจจัยเสี่ยงอธิบายไว้ เปิดเข้าดูได้) ในกรณีที่คำนวณความเสี่ยงเมื่อทราบค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกนั้น (รูปที่ 2ก) ค่าดัชนีมวลกายจะกำหนดไว้ที่ 24 กิโลกรัม/ตารางเมตร ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่างจากนี้มากจะทำให้ความแม่นยำในการประเมินความเสี่ยงลดลง ข้อมูลแยกเป็น 9 ตารางตามอายุ โดยเริ่มตั้งแต่ 50 ปี ดังนี้ 50, 55, 60…(ช่วงห่าง 5 ปี) จนถึง 90 ปี (ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะใช้ข้อมูลจึงต้องมีอายุในช่วง 50-90 ปี) ส่วนกรณีที่คำนวณความเสี่ยงโดยใช้ค่าดัชนีมวลกายนั้นผู้ที่ใช้ข้อมูลจากแผนภูมิจะต้องเป็นผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายในช่วง 15-45 กิโลกรัม/ตารางเมตร (รูปที่ 2ข) ข้อมูลแยกเป็น 9 ตารางตามอายุเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น



สรุป

"แฟร็กซ์ (FRAX®)" เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักที่สะโพกหรือกระดูกที่ตำแหน่งสำคัญ ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เครื่องมือนี้มีใช้มานานแล้ว เป็นที่นิยมมาก เนื่องจากมีความสะดวกที่สามารถเข้าใช้งานได้ตลอดเวลาและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงเป็นประโยชน์ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มีเวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจะอาศัยข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน ปัจจัยเสี่ยงทางคลินิก และความหนาแน่นแร่ธาตุของกระดูกคอสะโพก (ในกรณีที่ทราบ) ปัจจุบันในแนวทางการรักษา (guidelines) โรคกระดูกพรุนของหลายองค์กรได้นำผลการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มาใช้ประกอบกันกับค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกในการพิจารณาให้การรักษาด้วยยา อย่างไรก็ตาม เครื่องมือนี้ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักให้มากขึ้น ดังเช่นปัจจุบันได้นำค่า “trabecular bone score” มาใช้ในการปรับปรุงค่าความเสี่ยงที่คำนวณได้

เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. “FRAX® เครื่องมือประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก” กับการใช้ประโยชน์ในโรคกระดูกพรุน. สารคลังข้อมูลยา 2560; 19(4):22-29.
  2. FRAX® Fracture Risk Assessment Tool. https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/. Accessed: November 2018.
  3. World Health Organization – WHO criteria for diagnosis of osteoporosis. http://www.4bonehealth.org/education/world-health-organization-criteria-diagnosis-osteoporosis/. Accessed: July 2018.
  4. Sözen T, ÖzıŞık L, BaŞaran NÇ. An overview and management of osteoporosis. Eur J Rheumatol 2017; 4:46-56.
  5. National Osteoporosis Guideline Group. NOGG 2017: Clinical guideline for the prevention and treatment of osteoporosis. https://www.sheffield.ac.uk/NOGG/NOGG%20Guideline%202017.pdf. Accessed: June 2018.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.