Knowledge Article


เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง...อารมณ์จึงแปรปรวน (Seasonal Affective Disorder; SAD)


อาจารย์ ดร. ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://blogwillis-zippykid.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2013/06/temperature.jpg
8,321 View,
Since 2018-11-28
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/2ygyjhfv
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


          นอกจากสภาพแวดล้อมจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้แล้ว สุขภาพใจก็สามารถได้รับผลกระทบจากสิ่งรอบตัวได้เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นข้อดี และวิเศษที่สุดสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร คือ มีระยะเวลาช่วงกลางวันและกลางคืนที่ใกล้เคียงกันตลอดทั้งปี ในบางประเทศอาจมีสภาพอากาศและแสงแดดที่แปรปรวน เช่น ระยะเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน รวมไปถึงบางช่วงเวลาที่มีเมฆฝนปกคลุมตลอดสัปดาห์ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าฤดูหนาว (winter depression, winter blues) ภาวะดังกล่าวพบได้น้อยในประเทศไทย อย่างไรก็ตามคนไทยที่อาศัยต่างแดน อาจได้รับผลกระทบและเกิดภาวะนี้ เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และระยะเวลาในการปรับตัวที่ไม่เพียงพอ เช่น นักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร (United Kingdom) เป็นต้น



ภาพจาก : https://cdn.images.express.co.uk/img/dynamic/128/590x/El-Nino-616643.jpg

          ดังนั้นผู้ที่วางแผนจะเดินทางและคิดพักอาศัยช่วงระยะเวลาหนึ่งในต่างประเทศที่มีช่วงระยะเวลากลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมาก หรือครึ้มฟ้าครึ้มฝนตลอดวัน ควรวางแผน ทำความเข้าใจ และสำรวจตัวเองหากรู้สึกถึงความผิดปกติ ดังต่อไปนี้

อาการ

          โดยทั่วไปอาการที่พบเสมือนกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เพียงแต่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม อาการที่พบได้แก่
  • มีปัญหากับการนอน
  • มีปัญหากับการตั้งใจทำงาน
  • มีความผิดปกติด้านอารมณ์ เช่น วิตกกังวลเกินเหตุ ซึมเศร้า รู้สึกหมดกำลังในการทำงาน ความสนใจในสิ่งที่ชอบลดลง
  • ความอยากอาหารลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
  • มีปัญหากับการเข้าสังคม
  • อาจมีปัญหาด้านสุขภาพโดยตรง เช่น อารมณ์และสมรรถภาพทางเพศลดลง
วิธีการป้องกันและการรักษา

          สาเหตุของภาวะดังกล่าวยังไม่แน่นอน แต่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย (circadian phase shift) สารสื่อประสาท และอาจรวมไปถึงพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองเพื่อป้องกัน ได้แก่ จัดสรรเวลาสำหรับรับแสงแดดในช่วงกลางวันให้เพียงพอ ทำกิจกรรมกับเพื่อน หรือทำกิจกรรมที่ทำให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลายไม่สนใจแต่สภาพอากาศ รวมไปถึงการทำสมาธิ

          หากรู้สึกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตนเอง หรือมีผู้บอกกล่าวว่าเราเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอาการด้านอารมณ์ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและปรึกษาแนวทางในการรักษาที่ถูกต้อง ในส่วนของการรักษานั้น มีตั้งแต่การพูดคุยปรึกษา การปรับพฤติกรรม การใช้แสงในการบำบัด รวมไปถึงการใช้ยา ซึ่งเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะซึมเศร้า ได้แก่ ยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ทั้งนี้วิธีการรักษานั้นขึ้นกับอาการที่แสดงออก

          สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากฝากไว้ หากมีปัญหาด้านสุขภาพหรือการใช้ยาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยาสำหรับท่านเอง และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรครับ”

เอกสารอ้างอิง
  1. About SAD | Mind, the mental health charity - help for mental health problems. (n.d.). Retrieved October 29, 2018, from https://www.mind.org.uk/information-support/types-of-mental-health-problems/seasonal-affective-disorder-sad/about-sad/#.W9btF2j7TAx
  2. Lam, R. W., & Levitan, R. D. (2000). Pathophysiology of seasonal affective disorder: A review. Journal of Psychiatry and Neuroscience, 25(5), 469–480. https://doi.org/10.1177/070674379504000806
  3. Partonen, T., & L?nnqvist, J. (1998). Seasonal affective disorder: A guide to diagnosis and management. CNS Drugs, 9(3), 203–212. https://doi.org/10.2165/00023210-199809030-00004
  4. Seasonal affective disorder (SAD) - NHS. (n.d.). Retrieved October 29, 2018, from https://www.nhs.uk/conditions/seasonal-affective-disorder-sad/
  5. Seasonal affective disorder | Mental Health Foundation. (n.d.). Retrieved October 29, 2018, from https://www.mentalhealth.org.uk/a-to-z/s/seasonal-affective-disorder-sad

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.