Knowledge Article


เกิร์ด (GERD) - โรคกรดไหลย้อน


รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
568,931 View,
Since 2011-03-21
Last active: 21m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ปัจจุบันนี้ที่แผนกอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ มีผู้ป่วยเป็น “เกิร์ด”(GERD) หรือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)จำนวนมาก ซึ่งหลายคนยังมีความสงสัยและไม่เข้าใจว่า โรคกรดไหลย้อนนั้น หมายถึงอะไร เกิดได้อย่างไร มีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด และการดูแลรักษารวมทั้งการปฏิบัติตนควรทำอย่างไร บทความนี้เขียนเพื่อตอบคำถามต่าง ๆดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านรักษาตนให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมานจากโรคกรดไหลย้อน

 

“เกิร์ด”หรือ โรคกรดไหลย้อน หมายถึงอะไร ?

โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids)  ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด จึงพบว่ามีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น

 

โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร?

ในภาวะปกติ ร่างกายมีกลไกการป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง  (Lower esophageal sphincter, LES) ซึ่งหูรูดนี้จะคลายตัวขณะที่มีการกลืนอาหาร เพื่อให้อาหารผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร และหดตัวปิดทันทีเพื่อไม่ให้อาหารและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เมื่อประสิทธิภาพในการทำงานของกลไกการควบคุมนี้เสื่อมลงหรือบกพร่อง จึงเกิดโรคกรดไหลย้อน ซึ่งอาจเกิดเป็นครั้งคราว เป็นพัก ๆ หรือเกิดตลอดเวลา

  • สาเหตุหลักของโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการทำหน้าที่ของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างโดยที่ไม่มีการกลืน หรือความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด โรคนี้พบได้บ่อยในบุคคลทุกเพศทุกวัย หูรูดอาจเสื่อมตามอายุ หูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ในเด็กทารก  หรืออาจมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจพบในสตรีมีครรภ์ด้วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายมีผลต่อการทำงานของหูรูดหลอดอาหาร

  • พบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia)ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ทำให้มีโอกาสเกิดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
  • ปัจจัยอื่น ๆที่ส่งเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อน อาทิ พฤติกรรมการบริโภค และการปฏิบัติตน ได้แก่ การรับประทานอาหารอาหารรสจัด/รสเผ็ด อาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด  ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การนอนหรือเอนกายทันทีหลังรับประทานอาหาร ความเครียด ตลอดจนการสวมเสื้อผ้าคับและรัดเข็มขัดแน่น เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นเบตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาต้านคอลิเนอร์จิก ตลอดจนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น จะมีผลกระตุ้นการคลายตัวของหูรูดหรือมีการหลั่งกรดมากขึ้น

 

อาการของโรคกรดไหลย้อน

  • มีอาการแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย และอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • บางรายพบว่ามีภาวะเรอเปรี้ยว  คือมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือน้ำดีซึ่งมีรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น
  • บางรายอาจพบอาการผิดปกติของโรคหู คอ จมูก เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดเป็นมากขึ้น  เป็นต้นเนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม

 

การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำอย่างไร ?

(1) การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วยเอง คือควรปฏิบัติตน ดังนี้

-พฤติกรรมการบริโภค

  • ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากเกินไป ควรรับประทานบ่อยครั้งๆละน้อย
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารไขมันสูง  อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด/เผ็ดจัด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่

-พฤติกรรมการดำเนินชีวิต

  • ไม่ควรนอนหรือเอนกายทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ควรเว้นอย่างน้อย 3ชั่วโมง
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ ไม่อ้วนเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนพอเพียงและรักษาตนไม่ให้เครียด
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่รัดเข็มขัดแน่น

(2) การรักษาด้วยยา

   กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

  • ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด  คือ ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole)ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 - 8สัปดาห์ หรืออาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นระยะ ๆ ตามอาการที่มี  หรือรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • บางกรณีอาจใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งยานี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที

(3) การรักษาโดยการผ่าตัด

ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูด

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร?

แม้ว่าโรคกรดไหลย้อน ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต   แต่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมาน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นกรณีที่ท่านมีอาการของโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่อไป โปรดให้ความสนใจเพราะถ้าละเลยไม่ยอมรักษา เมื่อเป็นเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่

  • หลอดอาหารอักเสบ ซึ่งจะมีอาการเจ็บหน้าอกขณะกลืนอาหาร
  • แผลหลอดอาหาร อาจมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือมีถ่ายดำ
  • หลอดอาหารตีบตัน พบว่ามีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดมะเร็งของหลอดอาหาร ซึ่งจะมีอาการเจ็บขณะกลืนอาหาร กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย และน้ำหนักลด

 

“เพื่อสุขภาพ ปรับพฤติกรรม ใช้ยาถูกต้อง ป้องกันโรคกรดไหลย้อน”

 

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง

 


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.