Knowledge Article


นอนน้อยทำให้อ้วน จริงหรือไม่


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://imgix.ranker.com/user_node_img/50044/1000866826/original/falling-half-asleep-is-a-real-thing-photo-u2?w=650&q=50&fm=jpg
31,628 View,
Since 2018-02-28
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2dfevglm
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หลายท่านคงจะสังเกตได้ว่า มีคนหนุ่มสาวและเด็กที่เข้าข่ายว่าเป็น “คนอ้วน” มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต คำเปรียบเปรยที่ว่า “นอนจนอ้วนเป็นหมู” ไม่ตรงกับความจริงเสมอไป คนที่นอนน้อยมีโอกาสอ้วนมากกว่าคนนอนหลับปกติ



ภาพจาก : https://tkoala.com/images/galerie/chiens-gueule-bois/(2).jpg

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสำรวจในระหว่างปี ค.ศ. 2013-2014 พบว่าราว 70% ของชาวอเมริกันมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (โดยวัดจากผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป) ผู้ชายที่เป็นโรคอ้วนมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ 7.7 เปอร์เซ็นต์เข้าขั้นเป็นโรคอ้วนมาก โดยผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนมากมีมากกว่าผู้ชาย ในเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 2-19 ปี ประมาณ 17% เป็นโรคอ้วน และ 6% เป็นโรคอ้วนมาก ในวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-19 ปี 20.6% เป็นโรคอ้วน และ 9% เป็นโรคอ้วนมาก ประเทศในแถบเอเชียแม้ว่าจะมีจำนวนคนเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทางตะวันตก แต่อัตราการเพิ่มของคนเป็นโรคอ้วนก็สูงขึ้นเช่นกัน

จากรายงานการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่าการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ และคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี เช่นหลับไม่สนิท หลับยาก ตื่นบ่อย ฯ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ในทำนองเดียวกัน คนอ้วนมักมีปัญหาในการนอนหลับมากกว่าคนน้ำหนักปกติ ข้อมูลล่าสุดจาก National Sleep Foundation (NSF) ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่าคนในช่วงวัยต่าง ๆ ควรมีระยะเวลาในการนอนต่อวัน ดังนี้

ทารกแรกเกิด อายุ 0-3 เดือน 14-17 ชั่วโมง

ทารก อายุ 4-11 เดือน 12-15 ชั่วโมง

เด็กวัยหัดเดิน อายุ 1-2 ปี 11-14 ชั่วโมง

เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-5 ปี 10-13 ชั่วโมง

เด็กวัยเรียน อายุ 6-13 ปี 9-11 ชั่วโมง

วัยรุ่น อายุ 14-17 ปี 8-10 ชั่วโมง

ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี 7-9 ชั่วโมง ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 7-8 ชั่วโมง

โลกในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการใช้เทคโนโลยี และมีการแข่งขันสูง คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ มีเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพ ภาวะทางจิตใจ เช่น มีอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่รบกวนการนอน การดื่มอัลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีแคฟเฟอีน ปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากความผิดปกติของการนอน (sleeping disorder) แล้ว การนอนไม่หลับหรือนอนน้อย ยังอาจเกิดจากคนในสังคมยุคนี้เป็นโรคติดโซเชียล ต้องดูโทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน ดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกมส์หรือใช้คอมพิวเดอร์จนดึกดื่น ต้องเอางานกลับมาทำที่บ้าน ต้องทำงานล่วงเวลา หรือต้องทำงานกะกลางคืน ตลอดจนการจราจรที่ติดขัด ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน จนรบกวนเวลาที่ใช้พักผ่อนนอนหลับ

การนอนน้อยจะทำให้กินมากขึ้นเพื่อให้มีแรงทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ และยังทำให้เกิดการต้านทานต่ออินซูลิน การเผาผลาญกลูโคสลดลง จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ นอกจากนี้การนอนน้อยทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ

ฮอร์โมน ghrelin และ leptin มีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกหิวและความสมดุลย์ของการใช้พลังงานในร่างกาย ghrelin กระตุ้นให้เกิดความหิวและอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง ในขณะที่ leptin ลดความอยากอาหารและเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย ระดับของฮอร์โมนทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เมื่อร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ ระดับ ghrelin จะเพิ่มขึ้น และระดับ leptin จะลดลง ทำให้เกิดความหิวและอยากอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการนอนที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการนอน โดยพยายามเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศชวนให้นอนหลับสบาย เช่น ไม่ควรมีทีวี โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอน ปราศจากแสงและเสียงที่จะรบกวนการนอน รับประทานอาหารเย็นที่มีแป้งและน้ำตาลน้อย ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักก่อนนอนอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ทำจิตใจให้สงบและผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายและสมองตื่นตัว จนไม่อยากนอนหรือนอนหลับยาก ทำใจให้ปล่อยวาง การสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิอาจทำให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ถ้าอยากลดน้ำหนักก็ต้องนอนให้มาก ๆ การนอนมากจนเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากขาดการออกกำลัง การเผาผลาญพลังงานลดลง

การนอนหลับได้สนิทในระยะเลาที่เพียงพอ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้น้ำหนักลดลง เมื่อน้ำหนักลด โรคภัยต่าง ๆ ก็จะลดลงด้วย

เอกสารอ้างอิง
  1. Bayon V, Leger D, Gomez-Merino D, et al. Sleep debt and obesity. Ann Med, 2014;46(5):264-72.
  2. Pacheco SR, Miranda AM, Coelho R, et al. Overweight in youth and sleep quality: is there a link? Arch Endocrinol Metab. 2017;61(4):367-73.
  3. Jarrin D, McGrath J, Poirer P. Autonomic dysfunction: a possible pathophysiological pathway underlying the association between sleep and obesity in children at risk for obesity. J Youth Adoles 2015;44(2):285-97.
  4. https://sleepfoundation.org/sleep-topics/obesity-and-sleep.
  5. https://sleepfoundation.org/press-release/national-sleep-foundation-recommends-new-sleep-times
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.