Knowledge Article


เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) พิษร้ายจากปลาปักเป้า


รศ.วิมล ศรีศุข
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
98,120 View,
Since 2011-03-16
Last active: 5m ago
https://tinyurl.com/2895f9d9
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ปลา เป็นอาหารที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นอาหารสุขภาพโดยเฉพาะปลาทะเล  แต่ก็ยังมีปลาทะเลบางชนิดที่เราไม่ควรไปข้องแวะด้วยเนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในชั่วข้ามคืนจากสารพิษที่เรียกว่า เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin)
 
 เทโทรโดท็อกซิน หรือ  เท็ตโทรโดท็อกซิน จัดเป็นสารพิษจากสัตว์ทะเลที่สำคัญ 1 ใน 3 ชนิด ที่จัดว่าเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ  โดยส่วนใหญ่จะพบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งก็จะรวมประเทศไทยด้วย   การเกิดพิษจากเทโทรโดท็อกซินนี้ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุเนื่องมาจากการรับประทานปลาที่มีสารพิษดังกล่าวอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาปักเป้า (Puffer fish หรือ Fugu)  จะพบได้บ่อยมากในประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากปลาปักเป้าเป็นอาหารจานพิเศษ จะมีบริการลูกค้าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม ถึง มีนาคม  และเป็นสาเหตุของการตายจากการรับประทานปลาในญี่ปุ่นได้สูงถึง 100 รายต่อปีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20  แต่หลังจากการกำหนดให้พ่อครัวชาวญี่ปุ่นที่จะปรุงอาหารจานพิเศษต้องได้รับการฝึกการหั่นเตรียมปลาปักเป้าและขึ้นทะเบียนโดยรัฐบาล รายงานการตายก็ลดลงมากจนเหลือเพียงประมาณ 50 รายต่อปี  นอกจากในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็มีรายงานการตายจากการรับประทานปลาปักเป้าในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย เช่นกัน
 

สำหรับในประเทศไทย เนื้อปลาปักเป้าจะพบมาปะปนจำหน่ายเป็นเนื้อปลาที่แล่แล้วในราคาถูก ในตลาดเรียกกันว่า “ปลาไก่ ซึ่งอวดอ้างกันว่าเป็นปลาเนื้อไม่คาว สุกแล้วเนื้อขาวสวย หรือในรูปผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปอื่นๆ  นอกจากนี้ก็ยังอาจพบสารพิษดังกล่าวได้ในในแมงดาและไข่แมงดา  กบบางชนิด เป็นต้น ทางหน่วยงานราชการไทยมักจะประชาสัมพันธ์ให้ระมัดระวังอันตรายจากการรับประทานสัตว์ดังกล่าวในช่วงเวลาอันตราย (ออกข่าวเตือนครั้งล่าสุดเมื่อประมาณต้นปี 2554) เนื่องจากปลาเหล่านี้มักจะมีสารพิษสูงในช่วงก่อน และระหว่างฤดูกาลผสมพันธุ์ 


เทโทรโดท็อกซินจะพบอยู่ตรงส่วนใดของปลา ?
 
 ปลาในตระกูล เท็ตตราโอดอนติเด (Tetraodontidae) คือ ปลาปักเป้า (Puffer fish) และปลาที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Toadfish และปลาชนิดอื่นๆ จะพบเทโทรโดท็อกซิน ได้มากน้อยในส่วนต่างๆของปลา โดยจะพบสูงที่สุดในส่วนตับ รังไข่ ลำไส้ และหนังปลา  ปลาปักเป้าน้ำจืดบางชนิดก็พบสารพิษนี้ได้เช่นกัน  คาดว่าสารพิษนี้เกิดจากการสังเคราะห์โดยแบคทีเรีย หรือสาหร่ายเซลเดียวกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต  ที่อยู่กับปลาปักเป้า   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการกำจัดส่วนที่มีสารพิษออกจากปลาก่อนใช้รับประทาน มิฉะนั้นก็จะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากเทโทรโดท็อกซิน เป็นสารพิษที่มีผลต่อเนื้อเยื่อประสาท ขัดขวางการแพร่ผ่านของโซเดียมตามช่องทาง (sodium channels) ทำให้เซลล์ประสาททุกส่วนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ 
 
ต้องกินปลาปักเป้าเท่าไรจึงจะเกิดอาการพิษขึ้น ?

 ปริมาณปลาที่ทำให้เกิดพิษยังไม่แน่นอนเนื่องจากปลาปักเป้าจะมีเทโทรโดท็อกซิน แตกต่างกัน เฉพาะปริมาณสารพิษนี้เพียง 1-2 มิลลิกรัม ก็ทำให้ถึงตายได้  มีรายงานว่าการรับประทานปลาปักเป้า (ที่มีสารพิษอยู่) ในปริมาณที่น้อยกว่า 50 กรัม (1/2 ขีดตาชั่งในตลาด) ก็ทำให้เกิดอาการพิษได้  อัตราการตายเท่าที่พบในรายงานบางฉบับ คือ ประมาณ ร้อยละ 3 แต่หากรับประทานปลาปักเป้าในปริมาณ 51-100 กรัม (1/2-1 ขีด) อัตราการตายจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27   และเมื่อปริมาณที่รับประทานมากกว่า 100 กรัม (1 ขีด) อัตราการตายก็จะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 คือ รอดครึ่ง ตายครึ่ง ไม่คุ้มกัน
 
จะต้มหรือทอดปลาปักเป้าให้สุกมากๆก่อนกิน จะปลอดภัยหรือไม่ ?

 การให้ความร้อน ไม่ใช่การแก้ปัญหาจากสารพิษนี้ เนื่องจากเทโทรโดท็อกซิน เป็นสารพิษที่ไม่ใช่โปรตีน ละลายน้ำได้ และทนความร้อน (ยกเว้นในสภาวะที่เป็นด่าง) ดังนั้นการต้มหรือผัดก็ไม่ได้ช่วยกำจัดความเป็นพิษไปได้ สารพิษนี้ก็จะยังคงมีอยู่ในอาหารปลาที่ปรุงสุกแล้ว และก่อให้เกิดอาการพิษได้เหมือนก่อนปรุงสุก

นานเท่าไรหลังกินปลา ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ ?
 
 อาการเริ่มแรกเริ่มต้นที่เวลาแตกต่างกัน สามารถเกิดอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 15 นาทีหลังการรับประทานอาหารที่มีเทโทรโดท็อกซิน จนถึง 20 ชั่วโมงหลังรับประทาน   อาการสามารถจะทรุดหนักลงภายใน 4-24 ชั่วโมง   และถึงตายได้ภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือ ภายใน 4-6 ชั่วโมง 
 
อาการพิษจากเทโทรโดท็อกซิน มีอะไรบ้าง ?

 อาการเริ่มแรก เป็นน้อย คือ ริมฝีปากและลิ้นจะเริ่มรู้สึกเหมือนมีเข็มแทงเบาๆ ยิบๆ ถี่ๆ มีอาการชา  ตามมาด้วยอาการชาแบบเดียวกันที่หน้า และมือ สำหรับอาการอื่นๆที่เกิดในช่วงแรกๆก็จะมีอาการน้ำลายออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียพร้อมด้วยปวดท้อง  ขั้นต่อไป เป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว คือ อ่อนแรง หายใจไม่ค่อยออก และพูดลำบาก  เมื่ออาการทรุดหนักก็จะเป็นอัมพาตได้อย่างรวดเร็วภายใน 4-24 ชั่วโมง  โดยเริ่มที่มือและเท้า ริมฝีปาก ลิ้น ปาก คอหอย กล่องเสียง  ตามมาด้วยอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ   ท้ายที่สุด คือ หัวใจทำงานผิดปกติ เต้นผิดจังหวะ  ความดันตก  โคม่า และชัก  ผู้ป่วยที่ได้รับพิษสูงมาก อาจจะเข้าสู่อาการโคม่าที่ลึก รูม่านตาขยาย ไม่หดเล็กลงเมื่อถูกแสง หยุดหายใจเป็นช่วงๆ   สูญเสียการตอบสนองของสมองทั้งหมด  การตายเกิดได้ภายใน 4-6 ชั่วโมง เนื่องจากเกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจ และการหายใจล้มเหลว
 สำหรับการฟื้นตัว ในรายที่อาการน้อย อาการจะหายไปภายในไม่กี่ชั่วโมง  ส่วนรายที่อาการปานกลาง ถึงรุนแรง ส่วนใหญ่จะฟื้นตัวภายใน 5 วัน (ถ้าไม่ตาย) แต่รายที่อาการรุนแรง อาจใช้เวลานานมากกว่านี้
 
เมื่อมีอาการ แล้วสงสัยว่าจะได้รับเทโทรโดท็อกซิน จะต้องทำอย่างไร ?

 เมื่อมีอาการ แล้วสงสัยว่าจะจะได้รับเทโทรโดท็อกซิน  ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แล้วแจ้งกับแพทย์หรือพยาบาลด้วย  ผู้ได้รับสารพิษอาจจะเดินตัวปลิวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการที่น้อย  แต่อาการพิษสามารถจะทรุดลงได้อย่างรวดเร็วมากจนไม่รู้สึกตัว รุนแรงถึงตายได้ภายในวันเดียว  
 สำหรับการแก้พิษ ยังไม่มียาแก้พิษสำหรับเทโทรโดท็อกซิน การรักษาพยาบาลทำได้แต่เพียงการล้างท้อง  เฝ้าระวังไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำและไม่ให้เสียสมดุลของเกลือแร่ และให้ออกซิเจน ดูแลประคับประคองเรื่องการหายใจล้มเหลว กับผลต่อหัวใจ  ในรายที่เกิดอาการพิษปานกลางถึงรุนแรง อาจจำเป็นต้องอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนจากโคม่า การหายใจล้มเหลว และผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด  ทุกคนที่มีอาการ ควรจะได้รับการดูแลเฝ้าระวังจนกระทั่งช่วงอาการรุนแรงผ่านพ้นไปแล้ว อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือยาช่วยแก้ไขหรือบรรเทาอาการต่างๆโดยเฉพาะการหายใจล้มเหลว  จนกว่าจะผ่านพ้นขีดอันตราย
 
แล้วจะทำอย่างไรจึงจะไม่เสี่ยงกับการได้รับเทโทรโดท็อกซิน

 เมื่อจ่ายตลาด ก็ควรจะซื้อแต่เฉพาะปลาที่เห็นหน้าและรู้จักว่าเป็นปลาอะไร อย่าซื้อปลาแปลกหน้าหรือเนื้อปลาที่แล่แล้ว  สำหรับผู้ที่ฝากท้องไว้นอกบ้าน ก็ควรจะสั่งแต่อาหารจานปลาที่มีหน้าอยู่ด้วยในจาน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาและไข่แมงดาในช่วงเวลาอันตรายด้วย  ส่วนการรับประทานผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาแบบต่างๆ จากร้านอาหาร ควรจะอุดหนุนแต่เจ้าประจำที่คุ้นเคยกันดีว่าพิถีพิถันเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร 
ท้ายที่สุด ในช่วงเวลาใด หากเห็นข่าวเรื่องผู้ป่วยจากพิษของเทโทรโดท็อกซินถี่เหลือเกินทั้งในโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์  ก็สมควรจะอดใจ รับประทานแต่หมู เนื้อ ไก่ ฯลฯไปสักระยะ น่าจะดีกว่าเสี่ยงตายแบบไม่รู้ตัว
 
 

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.