ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลายๆ ท่านที่แวะเวียนไปยังชั้นขายเครื่องดื่มตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าทั่วไป อาจเจอปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “หายเป็นหลุม” จนต้องเหลียวกลับมามองพร้อมกับตั้งคำถามว่า สินค้าอะไรนะที่หายไปจากชั้นวางอย่างไร้ร่องรอยได้ขนาดนี้? ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่แอดมินเพจดังอย่าง Drama-addict เจ้าของฉายา Discount man ได้เปิดสกิลใหม่ที่เรียกว่า “หายเป็นหลุม” ให้กับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยี่ห้อหนึ่งจากโครงการหลวง ซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นสมุนไพร 3 ชนิด นั้นก็คือ ปัญจขันธ์ (เจียวกู่หลาน) คำฝอย และหญ้าหวาน จนทำให้ผู้รักสุขภาพทั้งหลายอยากลิ้มลองไปตามๆ กัน แต่หลายๆ ท่านอาจยังไม่ค่อยทราบข้อมูลของสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องดื่มดังกล่าว วันนี้เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า เจ้าสมุนไพร 3 ชนิดมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
ภาพจาก :
https://mypullzone-fitnessworld1.netdna-ssl.com/
wp-content/uploads/2015/11/cocktails2.jpg
ปัญจขันธ์ (
Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino) หรือเจียวกู่หลาน เป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae เป็นไม้เถาล้มลุก อยู่ได้หลายปี ลำต้นเล็กเรียวยาว เลื้อยยาวแตกแขนง ใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ ออกสลับ ส่วนมากมีใบย่อย 5 ใบ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศและแยกต้น ออกเป็นช่อตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อแบบช่อแยกแขนงโปร่ง ดอกเล็กมาก สีเขียวอมเหลือง ช่อดอกเพศเมียเป็นช่อสั้นๆ และมีดอกน้อยกว่าช่อดอกเพศผู้ ผลมีเนื้อ ค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมาก ผลสุกสีดำ มีเมล็ดเล็กมาก 1 - 3 เมล็ด ผิวเมล็ดขรุขระ สรรพคุณพื้นบ้านระบุว่า ทั้งต้นเป็นยาแก้อักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ และใช้พอกรักษาแผล
1 สารสำคัญที่พบเป็นสารในกลุ่มซาโปนินคือ ginsenoside, gypenoside การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดและสารในกลุ่มซาโปนินมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งหลายชนิด มีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน บำรุงหัวใจ ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ต้านการหดเกร็งของหลอดลม ต้านอาการอักเสบ และช่วยปกป้องตับจากสารพิษ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง สำหรับการศึกษาความเป็นพิษพบว่ามีความปลอดภัยในการบริโภคสูงและยังไม่มีรายงานการเกิดพิษจากการบริโภคในขณะนี้ค่ะ
2
คำฝอย (
Carthamus tinctorius L.) เป็นพืชในวงศ์ Asteraceae เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นสัน เกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปวงรี ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบเป็นหนามแหลม ดอกเป็นช่อออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบดอกมีสีเหลืองเมื่อแรกออก แล้วปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก สีขาว สรรพคุณแผนโบราณระบุว่า ดอกคำฝอยช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงน้ำเหลือง บำรุงประสาท และใช้แก้โรคผิวหนัง
3, 4 สารสำคัญที่พบเป็นสานในกลุ่ม flavonoids, alkaloids และสารให้สีในกลุ่ม quinochalcone เช่น safflower yellow A, safflower yellow B, safflomin A, safflomin C, precarthamin, carthamin การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดน้ำมันดอกคำฝอย และสารในกลุ่ม quinochalcone มีส่วนช่วยในการปกป้องหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง สำหรับการศึกษาความเป็นพิษพบว่า เมื่อให้หนูเม้าส์กินสารสกัดน้ำของดอกคำฝอยในขนาด 200 มก./กก. ติดต่อกัน 35 วัน หลอดสร้างอสุจิของหนูมีขนาดสั้นลง และมีการสร้างตัวอสุจิลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ดังนั้นจึงอาจต้องระมัดระวังการบริโภคดอกคำฝอยในผู้ชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ค่ะ
5, 6
หญ้าหวาน (
Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni) เป็นพืชในวงศ์ Asteraceae ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกกลับแกมขอบขนาน ขอบใบจักฟันเลื่อยมีรสหวาน ดอกช่อกระจุกแน่น ออกที่ปลายยอด กลีบดอกสีขาว ผลแห้งไม่แตก มีเมล็ดเดียว
7 ใบของหญ้าหวานมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10 - 15 เท่า สารสำคัญที่ทำให้มีรสหวานเป็นสารในกลุ่ม steviol glycosides และที่พบเป็นส่วนใหญ่คือสาร stevioside ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200 - 300 เท่า แต่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นสารให้ความหวานในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก แต่อาจต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีความผิดปกติของไต เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อไตในสัตว์ทดลองของสาร stevioside
8, 9 ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้หญ้าหวานและสาร stevioside ในขนาดสูงและไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานค่ะ
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด คือ เจียวกู่หลาน คำฝอย และหญ้าหวาน ล้วนมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ และเมื่อนำมาทำให้อยู่ในรูปของเครื่องดื่มที่สามารถบริโภคได้ง่าย ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่รักสุขภาพค่ะ แต่อาจต้องระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วยนะคะ และที่สำคัญคือ ควรทานแต่พอดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้เราก็จะมีสุขภาพที่ดีแล้วค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. ปัญจขันธ์ Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino. 2548. 1241 มิราคูลัส จำกัด, กรุงเทพ. 104 หน้า.
- จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 23 ฉบับที่ 2
- นันทวัน บุณยะประภัศร และคณะ. ก้าวไปกับสมุนไพร เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ธรรกมลการพิมพ์, 2529:243 หน้า.
- พยอม ตันติวัฒน์. สมุนไพร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521:142 หน้า.
- จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 30 ฉบับที่ 2
- จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 31 ฉบับที่ 3
- พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และคณะ. สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด, 2535:257 หน้า.
- จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 12 ฉบับที่ 2
- จุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับปีที่ 20 ฉบับที่ 4