Knowledge Article


สมุนไพรป้องกันยุง


รองศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณ ธีระวรพันธ์
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.clarksvilleonline.com/wp-content/
uploads/2009/07/mosquito.png
229,509 View,
Since 2015-12-09
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ยุงเป็นพาหะของการเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ ยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำไข้มาลาเรีย ยุงรำคาญนำโรคไข้สมองอักเสบ ยุงลายเสือและยุงอีกหลายชนิดเป็นพาหะโรคเท้าช้าง ที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศในเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทยที่มีสภาพอากาศเหมาะแก่การแพร่กระจายพันธุ์ จึงต้องมีการควบคุมทั้งแหล่งกำเนิด และทำลายยุง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค การป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน จึงมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่ยุง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์และเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อม



ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งของพืชสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันและกำจัดแมลงได้ ปัจจุบันจึงมีการศึกษาและใช้สารจากธรรมชาติในการป้องกันยุงกัดมากขึ้น ได้แก่ สารสกัดจากสมุนไพรที่มีกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย (essential หรือ volatile oils) สารป้องกันยุงที่ได้จากธรรมชาติมีข้อดีกว่าสารเคมีสังเคราะห์ที่ไม่สะสมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของพืชและสัตว์ สารจากธรรมชาติจึงปลอดภัยต่อผู้ใช้ นอกจากนี้มักมีความจำเพาะกับชนิดของยุงด้วย

พืชกลุ่มสกุล (genus) Cymbopogon

น้ำมันหอมระเหยจากพืชในสกุล Cymbopogon ได้แก่ ตะไคร้ชนิดต่างๆ มีฤทธิ์ป้องกันยุงได้หลายชนิด เช่น ยุงก้นปล่อง ยุงลาย และยุงรำคาญ
  • ตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus (L.) Rendle)

    มีการศึกษาฤทธิ์ไล่ยุงของตำรับน้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) ที่มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ citronella, geraniol และ citronellol ในรูปแบบของครีม พบว่าตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม 17% ป้องกันยุงลายได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง ครีมที่มีน้ำมันตะไคร้หอม 14% ลดจำนวนยุงรำคาญที่มาเกาะภายใน 1 ชั่วโมงหลังทาครีม นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลของตะไคร้หอมผสมกับน้ำมันมะกอกสามารถไล่ยุงลายและยุงรำคาญได้นาน 2 ชั่วโมง ครีมที่มีน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้หอมที่ความเข้มข้น 1.25, 2.5 และ 5.0% ป้องกันยุงก้นปล่องได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะที่ความเข้มข้น 10% ให้ผลได้นานกว่า 4 ชั่วโมง
  • ตะไคร้ (Cymbopogon citratus (DC.) Stapf)

    น้ำมันตะไคร้ (lemongrass oil) ใน liquid paraffin ความเข้มข้น 20 และ 25% มีผลป้องกันยุงลายได้ 100% ใน 1 ชั่วโมงแรก และลดลงเหลือประมาณ 95% ภายใน 3 ชั่วโมง การเตรียมผลิตภัณฑ์น้ำมันตะไคร้ 15% ในรูปของครีมและขี้ผึ้งพบว่าให้ผลป้องกันยุงกัดได้ โดยคุณสมบัติของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีผลต่อการปลดปล่อยน้ำมันหอมระเหย และมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันยุงด้วย น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ที่มี geraniol ปริมาณ 0.2 มก./ซม2 สามารถลดอัตราการกัดจากยุงรำคาญ เป็น 10, 15 และ 18% ที่เวลา 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้ทาน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ สบู่อาบน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำมันตะไคร้หอม 0.1% น้ำมันตะไคร้ 0.5% และน้ำมันสะเดา 1% สามารถไล่ยุงได้ในช่วง 8 ชั่วโมง
พืชกลุ่มสกุล (genus) Ocimum

การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจากพืชกลุ่มนี้ 5 ชนิด ได้แก่ แมงกะแซง (O. americanum L.) โหระพา (O. basilicum L.) แมงลัก (O. africanum Lour. ExH) ยี่หร่าหรือโหระพาช้าง (O. gratissimum L.) และกะเพรา (O. tenuiflorum L.) พบว่ามีฤทธิ์ทั้งฆ่าลูกน้ำและไล่ยุงลายได้ ฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงลายของน้ำมันหอมระเหย เรียงลำดับดังนี้ โหระพา > ยี่หร่า> กะเพรา > แมงลัก = แมงกะแซง โดยมีค่าความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยที่ให้ผลป้องกันยุงได้ 90% (EC90) เท่ากับ 113, 184, 240, 279 และ 283 ppm ตามลำดับ สำหรับฤทธิ์ไล่ยุงของน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 10% พบว่า โหระพาช้างมีฤทธิ์แรงที่สุด ป้องกันยุงกัดได้นาน 135 นาที รองลงมาคือ กะเพรา และแมงลัก ที่ป้องกันยุงกัดได้นาน 105 และ 75 นาที ตามลำดับ ขณะที่แมงกะแซง และโหระพาให้ผลน้อยที่สุดเพียง 15 นาที

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ในรูปของแท่งทา ครีม และสเปรย์ ที่มีส่วนผสมของน้ำมันแมงลักและแมงกะแซง มีผลในการไล่ยุงลายและป้องกันยุงได้

พืชกลุ่มสกุล (genus) Citrus
  • มะกรูด (Citrus hystrix DC.)

    น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดมีฤทธิ์ป้องกันยุงได้นาน 95 นาที และตำรับยาทากันยุงที่มีน้ำมันมะกรูดความเข้มข้น 25 และ 50% สามารถไล่ยุงได้นาน 30 และ 60 นาที ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยผสมจากมะกรูด 5% และจากดอกชิงเฮา (Artemisia annua L.) 1% ป้องกันยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญได้นาน 180 นาที ในห้องปฏิบัติการ ในความเข้มข้นเดียวกันสามารถป้องกันยุงลาย และยุงเสือ ได้ 180 นาที และยุงรำคาญได้นานถึง 240 นาทีในภาคสนาม
  • มะนาวฝรั่ง (Citrus limon (L.) Burm.f.)

    น้ำมันหอมระเหยจากมะนาวฝรั่งมีฤทธิ์ไล่ยุงก้นปล่องได้ 0.88 เท่าของสารเคมีสังเคราะห์ N,N-diethyl-3-methylbenzamide
นอกจากสมุนไพรที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่มีการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันยุง ได้แก่ ข่า ไพล ขึ้นฉ่าย ว่านน้ำ กานพลู หนอนตายหยาก ดอกกระดังงาไทย สารไพรีทรัม (pyrethrum) และไพรีทริน (pyrethrins) ที่พบได้ในพืชตระกูลดอกเบญจมาศ (chrysanthemum flowers) เป็นต้น จะเห็นว่าสมุนไพรที่มีศักยภาพในการไล่ยุงเป็นพืชที่พบและปลูกได้ทั่วไป สามารถเตรียมไว้ใช้เองในครัวเรือนหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำมันหอมระเหยสมุนไพรนำมาผลิตเป็นครีมหรือโลชั่นป้องกันยุง สเปรย์ไล่ยุง หรือยาจุดกันยุงจากผงสมุนไพร ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมในระดับอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสมุนไพร ปลอดภัยต่อร่างกาย ลดอันตรายจากการใช้สารเคมี และเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของโรคต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะนำโรค

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากจุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับที่ 24(3) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.