Knowledge Article


“ตดหมูตดหมา” เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้จริงหรือ?


พิชานันท์ ลีแก้ว
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://www.tistr.or.th/sakaerat/plant%20in%20sakaerat/plant%20list/057ตดหมูตดหมา.pdf
144,211 View,
Since 2015-11-08
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/y7tzeab7
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

“ตดหมูตดหมา” เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่กำลังมีกระแสโด่งดังอยู่ในโลกโซเชียลเกี่ยวกับสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งหลายคนที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสมุนไพรคงเคยได้ยินหรือได้เห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง ต้นตดหมูตดหมาเป็นไม้ล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Paederia linearis Hook.f. และมีชื่อพ้องที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นเช่น ตำยานตัวผู้ พังโหม ย่านพาโหม หญ้าตดหมา เป็นต้น ลักษณะของต้นตดหมูตดหมา เป็นพืชเถาเลื้อย มีขนสีขาวปกคลุม ใบเรียงตรงข้าม ใบผอมยาว ปลายใบแหลม ดอกมีลักษณะเป็นช่อแบบกลุ่มย่อย ออกตามง่ามใบ ช่อดอกมีกิ่งแขนง บนกิ่งแขนงมีจะดอกซึ่งมักจะออกเป็นกลุ่ม ดอกมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กเป็นซี่ ผลกลมรูปไข่ ทั้งส่วนกลีบดอกและผลมีขนปกคลุม (1) ส่วนใบ ลำต้น และรากจะมีกลิ่นแรง สรรพคุณของต้นตดหมูตดหมาตามตำราพื้นบ้านคือ ส่วนใบ ใช้แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน แก้ธาตุพิการ แก้คัน แก้ปวดฟัน ถอนพิษงู ส่วนเถา ใช้แก้ซาง แก้ท้องเสีย แก้ไข้ตัวร้อน รักษารำมะนาด ขับพยาธิไส้เดือน ดอก ใช้ขับน้ำนมและแก้ไข้จับสั่น ผล ใช้แก้ไข้จับสั่น หืดไอ แก้ริดสีดวงทวาร ขับน้ำนม ส่วนราก ใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (1-2)
จากการสืบค้นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นตดหมูตดหมาพบว่า มีงานวิจัยค่อนข้างน้อยมาก ยังไม่พบงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศ พบเพียงว่าส่วนรากของต้นตดหมูตดหมามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (3) และต้านเอนไซม์ acetylcholinesterase (4-5) ซึ่งอาจเป็นผลดีในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสำหรับผลิตยารักษาโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทั้งหมดยังอยู่ในขั้นการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นและเป็นการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) เท่านั้น และยังไม่พบการศึกษาถึงความเป็นพิษ จึงไม่สามารถระบุถึงขนาดและวิธีการใช้ที่เหมาะสมและปลอดภัยได้ นอกจากนี้ในประเทศไทยยังพบพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับต้นตดหมูตดหมาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันและมีชื่อเรียกพ้องกันได้แก่ พังโหม (Paederia foetida L. var. foetida) และหญ้าตดหมา (Peaderia pilifera Hook.f.) ซึ่งแต่ละต้นก็มีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป (6) ดังนั้นจึงควรพิจารณาเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง
เอกสารอ้างอิง

  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 1. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด; 2543. 895 หน้า.
  2. วงศ์สถิตย์ ฉั่วสกุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, พรทิพย์ สุภัทรวณิชย์. สมุนไพรพื้นบ้านอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ (2). วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2538;22(2):55-67.
  3. Sudta P, Sabyjai C, Wanirat K. Phytochemical analysis, In vitro antioxidant and cytotoxicity activity of extracts of Paederia linearis Hook.f. root. The Sci J of Phetchaburi Rajabhat University 2013;10(1):5-18.
  4. Ingkaninan K, Temkitthawon P, Chuenchom K, Yuyaem T, Thongnoi W. Screening for acetylcholinesterase inhibitory activity in plants used in Thai traditional rejuvenating and neurotonic remedies. J Ethnopharmacol 2003;89(2-3):261-4.
  5. Mukherjee PK, Kumar V, Mal M, Houghton PJ. Acetylcholinesterase inhibitors from plants. Phytomedicine 2007;14(4):289-300.
  6. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย 2. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด; 2552. 751 หน้า.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.