Knowledge Article


เครื่องสำอางนาโน ให้ประโยชน์หรือเป็นอันตราย?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://wnninterviewsociety.files.wordpress.com/2013/05/512-rows_of_lipstick_imageookikioo.jpg?w=529
29,095 View,
Since 2015-09-23
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/2byfpa33
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


นาโนเทคโนโลยีกำลังระบาดในสังคมทั่วโลก มีการนำมาใช้ทั้งในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ สำหรับวิทยาการด้านการแพทย์ อนุภาคขนาดละเอียดในระดับนาโนเมตรของยา จะช่วยให้มีการนำส่งเข้าสู่กระแสเลือด อวัยวะ และสู่เซลที่ต้องการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ขนาดอนุภาคระดับนาโนเมตรเป็นขนาดที่มองด้วยตาเปล่าหรือแม้แต่กล้องจุลทรรศน์ก็มองไม่เห็น ต้องอาศัยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชนิดพิเศษช่วยเท่านั้นจึงจะมองเห็นได้ สารเคมีในระดับนาโนเมตรเหล่านี้จะให้ทั้งคุณและโทษต่อร่างกายหากได้สัมผัส ดังนั้นการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยา จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ถึงความปลอดภัย สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ความจริงเครื่องสำอางคือผลิตภัณฑ์สำหรับปกปิด เสริมแต่งผิวหนังให้สวยงาม วัตถุประสงค์ของสินค้าเพื่อใช้สำหรับภายนอกร่างกายเท่านั้น สารนาโนจึงไม่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในทางตรงกันข้ามหากองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตรเกิดแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะสินค้าเครื่องสำอางยังไม่ได้ผ่านการประเมินความเป็นพิษและความปลอดภัยต่อการเข้าสู่ร่างกาย วงการวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในหลายประเทศกำลังพยายามสร้างข้อกำหนดเพื่อทดสอบและประเมินความปลอดภัยของเครื่องสำอางที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นนาโนคอสเมติคส์ แต่ปัจจุบันเครื่องสำอางนาโนยังเป็นข้อสงสัยและถกเถียงถึงไม่ความปลอดภัย

อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาถึงประโยชน์และหน้าที่ของเครื่องสำอางซึ่งแบ่งตามประเภท จะพบว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนาโนคอสเมติคส์เลย เช่น
  1. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

    หน้าที่หลักของผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือชำระล้างผิวหนังส่วนต่างๆของร่างกายให้สะอาด องค์ประกอบหลักของผลิตภัณฑ์คือสารทำความสะอาดหรือ “เซอร์แฟคแตน” สิ่งสกปรกมักปกคลุมที่ผิวหนังชั้นนอกสุด หรืออาจอุดตามรูขุมขน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบของสารเคมีขนาดนาโนเมตร
  2. ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิว

    ผิวหนังคนเรามี 2 ชั้น ชั้นนอกสุดคือชั้นหนังกำพร้า และชั้นในสุดคือชั้นหนังแท้ ครีมบำรุงผิวทั่วไปจะทำหน้าที่ไปเคลือบผิวหนังชั้นนอกสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ความชุ่มชื้นในชั้นผิวหนังลดลง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนาโนเครื่องสำอาง เพราะสารชุ่มชื้นผิวควรปกคลุมและแทรกอยู่ในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น
  3. ผลิตภัณฑ์ประเภทปกป้องร่างกาย

    ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะใช้เพื่อปกป้องผิวหนังและร่างกายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ครีมกันแดด โลชั่นทากันยุง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ก็เช่นกัน โดยหน้าที่และประโยชน์ที่จะเกิดสูงสุดคือเนื้อครีมกันแดดควรจะต้องเคลือบและปกคลุมที่ผิวหนัง ไม่ควรแทรกซึมลงสู่ผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไป เนื่องจากรังสียูวีเมื่อตกกระทบผิวหนัง สารกันแดดที่ผิวหนังจะได้ดูดซับรังสีหรือสะท้อนรังสีออกจากผิวหนังได้ หากครีมกันแดดมีองค์ประกอบของสารกันแดดชนิดนาโน อาจจะแทรกซึมเข้าสู่หนังชั้นหนังแท้หรืออาจถึงกระแสเลือด ซึ่งทำให้เกิดอันตรายได้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบปัญหาของสารกันแดดที่มีขนาดอนุภาคเล็กระดับนาโนเมตรที่สามารถซึมลงสู่กระแสเลือด ทำให้มีโอกาสเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ จึงมีการวิจัยที่จะพัฒนาสารกันแดดให้มีขนาดอนุภาคที่ใหญ่ขึ้น โลชั่นกันยุงก็เช่นกัน สารกันยุงหรือไล่ยุง ต้องเคลือบอยู่บนชั้นผิวหนังเท่านั้นเพื่อทำหน้าที่ไล่ยุง เนื้อโลชั่นต้องไม่สามารถซึมลงผิวหนังชั้นที่ลึกลงไป สารไล่ยุงเป็นสารอันตราย มีงานวิจัยที่พบว่าเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของเซลสมองในเด็ก ดังนั้นจะพบว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มปกป้องร่างกายไม่ควรจะเป็นเครื่องสำอางนาโนแน่นอน
  4. ผลิตภัณฑ์แต่งแต้มสีสัน

    เช่น แป้งฝุ่น ครีมรองพื้น สีทาเปลือกตา ดินสอเขียนคิ้ว ลิปสติก และอื่นๆ ประเภทนี้องค์ประกอบสำคัญคือชนิดของสีที่ผสมในผลิตภัณฑ์ ต้องเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางและอาหารเท่านั้น สีที่มีองค์ประกอบของโลหะหนัก เช่นสีเคลือบหรือย้อมเส้นผม ต้องผ่านการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผลิตภัณฑ์แต่งแต้มสีสันทำหน้าที่เสริมแต่งและเคลือบที่ผิวหนังเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นต้องไม่มีองค์ประกอบของสารระดับนาโนเมตรเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก หากผ่านเข้ากระแสเลือด จะเป็นสารก่อมะเร็งอย่างดีทีเดียว
  5. ผลิตภัณฑ์บำรุงและแก้ไขปัญหาความบกพร่องของผิวหนัง

    เช่น ลบริ้วรอยเหี่ยวย่น ชะลอวัย แก้ฝ้า แก้สิว ช่วยให้หน้าขาว แก้หน้ามัน และผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ สินค้ากลุ่มนี้มักจะมีหน้าที่เพื่อแก้ไขความบกพร่องของผิวหนัง สารสำคัญที่ออกฤทธิ์มักจะถูกพัฒนาวิจัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการนำส่งเข้าสู่เซลผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกลงไป เนื่องจากเซลที่มีหน้าที่ต่างๆอยู่ค่อนข้างลึก ระหว่างชั้นล่างสุดของหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ เช่น เม็ดสีที่ทำให้เกิดฝ้า ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และชั้นผิวหนังที่ที่มีการแบ่งเซลสร้างเซลใหม่ อย่างไรก็ตามสารสำคัญที่ออกฤทธิ์แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นล่าง แต่ก็ไม่ควรเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นในการใช้สารที่มีอนุภาคระดับนาโนเป็นองค์ประกอบ
ดังนั้นผู้บริโภคควรจะฉลาดในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องสำอางที่ปราศจากองค์ประกอบของสารนาโน จะปลอดภัยไร้กังวลจนกว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยของเครื่องสำอางนาโน ว่าใช้ได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับหลักการประเมินความปลอดภัยทางการแพทย์และยา

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.