Knowledge Article


ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา


เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
220,630 View,
Since 2015-04-06
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/2y7yless
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ลักษณะของปัสสาวะ ถือเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากโปรแกรมตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งมักจะมีการตรวจปัสสาวะแทบทุกครั้ง โดยปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนถึงปานกลาง แต่หากสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปจากเดิมอาจสร้างความกังวลใจให้กับทุกคนไม่น้อย ซึ่งการเปลี่ยนสีของปัสสาวะนั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น เม็ดเลือดแดงแตก หรือมีการติดเชื้อ อักเสบ และเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ แล้วส่งผลให้ปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล เป็นต้น หรืออาหารบางชนิด เช่น การรับประทานแครอทปริมาณมาก อาจทำให้ปัสสาวะมีสีส้มแดงจากสารเบต้าแคโรทีน นอกจากนี้ ยาบางชนิดก็อาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน ซึ่งเภสัชกรมักจะแจ้งผู้ป่วยขณะอธิบายวิธีการใช้ยา รวมทั้งอาจระบุไว้ในฉลากบนซองยา เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงผลดังกล่าวของยา

การเปลี่ยนสีของปัสสาวะจากยานั้น มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และส่วนใหญ่เกิดจากสีของยาหรือสารที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงยา โดยอาจพบได้หลายสี เช่น สีส้ม-ชมพู-แดง หรือ สีน้ำตาล-ดำ หรือ สีเขียว-น้ำเงิน หรือ สีขาวขุ่น ดังแสดงในตาราง ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของยา แต่บางครั้ง แม้เป็นยาชนิดเดียวกันก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของปัสสาวะได้แตกต่างกันในแต่ละคน เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ เช่น ปริมาณยาที่ได้รับ (ปริมาณยามากอาจทำให้มีสีเข้มมาก) ปริมาณและสีเดิมของปัสสาวะ (เหลืองอ่อนหรือเข้ม ซึ่งจะผสมกับสีของยาแล้วได้สีใหม่) สภาวะความเป็นกรด-ด่าง ของปัสสาวะ โรคหรือภาวะเดิมที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้ร่วม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมีปัสสาวะเปลี่ยนสีขณะใช้ยา และไม่เคยทราบข้อมูลนี้มาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือเภสัชกร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล ระหว่างใช้ยาลดไขมันในเลือดบางกลุ่ม หรือมีจ้ำเลือดตามตัวร่วมกับปัสสาวะสีแดงถึงน้ำตาล ขณะกำลังใช้ยาที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) โคลพิโดเกรล (clopidogrel) และวาร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G-6-PD deficiency) แล้วปัสสาวะมีสีแดงถึงน้ำตาล ระหว่างใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนสีของปัสสาวะในกรณีเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงของยา



เอกสารอ้างอิง

  1. Aycock RD, Kass DA. Abnormal urine color. South Med J. 2012;105(1):43-47.
  2. Gill BC. Urine discoloration. Available at http://emedicine.medscape.com/article/2172371-overview.
  3. Revollo JY, Lowder JC, Pierce AS, Twilla JD. Urine discoloration associated with metronidazole: a rare occurrence. J Pharm Technol. 2014;30(2):54-56.
  4. Ong YY, Thong SY, Ng SY. Cloudy urine after propofol anesthesia; a rare occurrence after a routine anesthetic. J Anesth Clin Res 2014;5(8):432.
  5. Vanholder R, Sever MS, Erek E, Lameire N. Rhabdomyolysis. J Am Soc Nephrol. 2000;11(8):1553-1561.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.