เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำกัดเท้า...โรคที่มาพร้อมหน้าฝน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ.บุญธิดา มระกูล

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.freepik.com/free-photo/beaut...223197.htm
อ่านแล้ว 4,000 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/10/2566
อ่านล่าสุด 4 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

โรคน้ำกัดเท้า คืออะไร?

โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต (Athlete’s foot) เป็นโรคที่เกิดจากผิวหนังบริเวณเท้ามีความอับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ การลุยน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะตำแหน่งซอกนิ้วเท้าเนื่องจากมีการเสียดสีและเป็นที่เก็บสะสมของสิ่งสกปรกและความอับชื้น ทำให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตได้ดีและติดเชื้อราตามมา นอกจากนี้ยังอาจติดต่อจากการใช้ของร่วมกัน เช่น รองเท้า ถุงเท้าที่ไม่สะอาด โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเพศชายในช่วงวัยรุ่น โดยทั่วไปอาการของโรคน้ำกัดเท้าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 

ระยะที่ 1 ในช่วง 1-3 วันแรก ผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ หรือเปียกชื้นจะมีการเปื่อย แดง คัน แสบ ซึ่งเป็นระยะของผิวหนังอักเสบ โดยไม่มีการติดเชื้อ 

ระยะที่ 2 ในช่วง 3-10 วัน การแช่น้ำต่อเนื่องจะทำให้ผิวมีการเกิดบาดแผล ผิวหนังเปื่อยและมีรอยฉีกขาด เกิดการบวมแดง เจ็บปวด มีหนอง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อราและแบคทีเรีย โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า 

ระยะที่ 3 ในช่วงมากกว่า 10 วัน หากมีการแช่น้ำต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เชื้อราจะเข้าสู่ผิวหนัง เกิดเป็นขุยขาวเปียก มีอาการคัน และมีกลิ่นเหม็น หากทิ้งไว้เรื้อรังเชื้อราจะฝังตัวในผิวหนัง หายขาดได้ยากและกลับมาเป็นซ้ำ เป็นๆหายๆ และหากติดเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ผิวหนังบริเวณผื่น มีอาการบวม ปวด มีหนองและมีกลิ่นเหม็น หากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าระบบน้ำเหลืองอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองข้างขาหนีบโตบวม กดเจ็บ และลุกลามเข้าสู่ระบบเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

การป้องกันและรักษาโรคน้ำกัดเท้า

การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำ โดยเฉพาะน้ำที่ท่วมขังสกปรก หากจำเป็นหลังจากการแช่น้ำควรรีบล้างเท้าด้วยสบู่อ่อนและล้างออกด้วยน้ำสะอาด เช็ดเท้าให้แห้งโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากมีบาดแผลควรล้างด้วยน้ำเกลือและทายาฆ่าเชื้อ และบำรุงผิวบริเวณเท้าที่ผ่านการแช่น้ำด้วยการทาครีมบำรุง

การรักษาโรคน้ำกัดเท้าจะให้การรักษาตามระยะของโรค คือ โรคน้ำกัดเท้าในระยะแรกซึ่งมีผื่นผิวหนังอักเสบไม่มีการติดเชื้อ จะรักษาโดยการให้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดอ่อน เช่น 0.02% Triamcinolone cream หรือ 3% Vioform cream ผสมกับ 0.02% Triamcinolone cream ทาบางๆ วันละ 2 ครั้งหลังทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งแล้ว โดยใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลักสำคัญคือห้ามใช้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเพราะจะทําให้เชื้อลุกลามได้ กรณีโรคน้ำกัดเท้าในระยะที่มีการติดเชื้อรา จำเป็นจะต้องให้ยาทารักษาเชื้อรา ได้แก่ Whitfield’s ointment, Ketoconazole cream, Clotrimazole cream ซึ่งต้องทาติดต่อกันโดยใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 6 สัปดาห์ โดยพบว่า Whitfield’s ointment เป็นยาทาที่ได้รับความนิยมเนื่องจากอยู่ในรูปแบบของยาขี้ผึ้งเกาะติดผิวได้ดี ไม่ถูกชะออกง่าย และมีความมันช่วยเคลือบผิวป้องกันไม่ให้ผิวสัมผัสกับน้ำสกปรก ทั้งนี้หากการรักษาการติดเชื้อราไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยมีสุขอนามัยส่วนบุคคลไม่ดีหรือเกิดเป็นซ้ำ อาจต้องพิจารณาให้ยารักษาเชื้อราชนิดรับประทานร่วมด้วย ได้แก่ Griseofulvin, Itraconazole, Fluconazole นอกจากนี้หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมโดยมักพบอาการ ปวด บวม แดง และมีหนอง จำเป็นจะต้องล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ และทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อเช่น Povidone iodine, Whitfield’s ointment, Fusidic acid, Mupirocin ในรูปแบบ cream หรือ ointment และหากติดเชื้อรุนแรงเช่น มีการบวมและปวดมาก มีไข้ จำเป็นจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น Cloxacillin, Dicloxacillin 

Image by valuavitaly on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. แพทย์หญิงวลัยอร ปรัชญพฤทธิ์. คู่มือการดูแลปัญหาผิวเบื้องต้นสำหรับประชาชนเมื่อประสบอุทกภัย. สถาบันโรคผิวหนัง (online). Available from: https://drive.google.com/file/d/1CF5ci1oS8WhdlD-ldD6U6doikxPIKLyN/view. (Cited 2023 Oct 3).

2. เชิดชัย สุนทรภาส. แนวปฏิบัติการใช้ยาต้านเชื้อราสำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนังในร้านยา. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ (online). Available from: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index. php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=562. (Cited 2023 Oct 3).

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้