Knowledge Article


4 ขั้นตอน การเลือกโพรไบโอติคส์


รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
394,774 View,
Since 2010-08-11
Last active: 6m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง ใครๆก็บอกว่ากินโพรไบโอติคส์แล้วดี  คุณเดินเข้าไปยืนหน้าตู้แช่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วก็เครียด  จะเลือกโพรไบโอติคส์ไหนดี

โพรไบโอติคส์ (Probiotics) เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต  จุลินทรีย์เหล่านี้ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อรับประทานเข้าไปในร่างกายแล้วจะไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่  ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่แต่เดิมในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียที่ดีมีจำนวนมากขึ้น และแบคทีเรียที่ไม่ดีจำนวนลดลง (คือพวกที่ทำให้ท้องอืด ท้องเสีย สร้างสารก่อมะเร็ง สารที่มีกลิ่นเหม็น ฯลฯ) ทำให้สุขภาพของลำไส้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์อื่นๆ เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน  เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆ   โดยรวม คือ โพรไบโอติคส์จะช่วยให้สุขภาพของคุณดีขึ้น

 

ขั้นตอนการเลือกโพรไบโอติคส์

ขั้นที่ 1เริ่มกันที่บริเวณหน้าตู้แช่ ให้ยื่นมือเข้าไปในตู้แช่บริเวณชั้นวางผลิตภัณฑ์โพรไบโอติคส์  ถ้าตู้แช่เย็นจัดเท่าตู้ที่บ้านคุณหรือเย็นกว่า เป็นอันว่าใช้ได้  เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะคงตัวกว่า และโพรไบโอติคส์ชอบอากาศเย็น จะอยู่สุขสบายมีจำนวนที่มีชีวิตมากกว่าในที่อากาศร้อน หากคุณสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีสาวขี่จักรยานส่ง ก็ให้เลือกสาวส่งที่ไม่โลภมาก บรรจุของในตู้แช่ท้ายจักรยานแต่พอดี ไม่ล้นออกมาจนปิดฝาไม่ได้  จุดสำคัญ คือ ให้เย็นอยู่เสมอ  หากตู้แช่ไม่เย็น สาวส่งใส่ของจนล้นตู้แช่ ขอแนะนำให้เปลี่ยนซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือเปลี่ยนสาวส่ง

ขั้นที่ 2หยิบขวดโยเกิร์ตหรือขวดนมที่คิดว่ามีโพรไบโอติคส์ขึ้นมา พลิกไปด้านข้างหรือด้านหลัง อ่านชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในถ้วยหรือในขวด  ถ้าเป็น สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus)

และ แล็คโตแบซิลลัส เดลบรูคคิไอ ชับสปีชี่ส์ บัลการิคัส (Lactobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) หรือ แล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส (Lactobacillus bulgaricus)

ทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ทำโยเกิร์ตธรรมดา ไม่จัดเป็นโพรไบโอติคส์   ให้มองหาชื่อเชื้ออื่นที่ข้างถ้วย โพรไบโอติคส์ที่มีอยู่ในโยเกิร์ตและนมในท้องตลาด เช่น ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum)ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010)  แล็คโตแบซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus casei) แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เป็นต้นยังมีโพรไบโอติคส์ตัวอื่นๆที่น่าสนใจอีกในต่างประเทศที่ยังไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา   ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักใส่โพรไบโอติคส์เพียง 1 ชนิด ส่วนที่มาจากต่างประเทศจะเติมโพรไบโอติคส์ลงไป 1-3 ชนิด    

ขั้นที่ 3ถึงตรงนี้ คุณเริ่มเครียดอีกแล้ว  ในขั้นนี้ที่ยังไม่รู้ว่าเชื้อไหนเหมาะกับคุณ ให้ถามตัวเองว่าคุณเป็นคนกลุ่มไหน “ท้องผูก อ้อนวอนกันทุกเช้า”หรือ “ลำไส้ไว เข้าห้องน้ำวันละหลายรอบ”ถ้าเป็นกลุ่มแรก ให้ลองเลือก ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส ก่อน เนื่องจากเชื้อนี้มักทำให้ย่นระยะเวลาที่อาหารอยู่ในลำไส้ แปลว่าทำให้ขับถ่ายเร็วขึ้น แต่ถ้าคุณเป็นกลุ่มลำไส้ไว ถ่ายบ่อย ก็ต้องหลีกเลี่ยงเชื้อนี้มิฉะนั้นจะยิ่งวิ่งเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอีก คนกลุ่มหลังนี้ก็ควรจะเลี่ยงโยเกิร์ตที่มีพรีไบโอติคส์ (อาหารของโพรไบโอติคส์) อยู่ด้วย(ดูที่ฉลาก)เพราะคนกลุ่มที่ลำไส้ไว มักจะท้องอืดง่าย ที่นี้ถ้าคุณเป็นคนปกติ ให้ลองโพรไบโอติคส์ตัวไหนก็ได้ แล้วลองกินไปสัก 2-3 สัปดาห์ โดยกินเช้า-เย็น วันละ 1-2 ถ้วย ทุกวัน เริ่มแรกท้องไส้อาจรู้สึกปั่นป่วน เนื่องจากมีการแก่งแย่งพื้นที่ในลำไส้ใหญ่ระหว่างกลุ่มต่างๆของแบคทีเรียเพื่อตั้งรกราก หากไม่มีอะไรผิดปกติอย่างอื่น ก็ให้กินต่อไปทุกวัน หลังจาก 2 สัปดาห์แล้ว ให้สำรวจตัวเองว่ารู้สึกสบายท้องขึ้นหรือไม่ ขับถ่ายดีหรือไม่ กินโพรไบโอติคส์นี้แล้วรู้สึกว่าสุขภาพลำไส้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ขอให้คุณกินโพรไบโอติคส์นี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  การกินโพรไบโอติคส์ให้ได้ผลดี ต้องกินสม่ำเสมอต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ห้ามกินๆหยุดๆ ต้องมีเชื้อไปทดแทนพรรคพวกที่ตั้งรกรากแล้วหลุดหายตายจากไปตามระยะเวลา   หากสำรวจแล้ว ไม่พอใจ ก็ขอให้เริ่มต้นใหม่ด้วยเชื้ออื่น ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์อีกเหมือนกันกว่าจะเข้าที่ จะให้แน่ใจก็ใช้เวลา 1 เดือน

ขั้นที่ 4  จริงๆขั้นนี้เป็นขั้นที่ 3 1/2 เนื่องจากยังเลือกไม่เสร็จ คุณดูที่ฉลากข้างถ้วยบางถ้วยแล้วก็เห็นตัวเลขจำนวนเชื้ออยู่ ตกลงคุณควรจะเลือกจำนวนเชื้อมากหรือเชื้อน้อยดี  เอาเป็นว่า คุณลองอ่านจำนวนที่ข้างถ้วย เช่น 20,000 ล้านตัว แล้วคุณก็เขียนให้เป็นตัวเลขทั้งหมด ในที่นี้ก็คือ 20,000,000,000 ตัว ทีนี้ก็เริ่มนับเลขศูนย์ที่มีทั้งหมด ตราบใดที่มีเลขศูนย์อย่างน้อย 10 ตัว ก็เป็นอันว่าใช้ได้  ตัวเลขมากดีกว่าตัวเลขน้อย คือ ควรมีจำนวนโพรไบโอติคส์ตั้งต้นอยู่อย่างน้อย 1010-1011 ตัวเนื่องจากโพรไบโอติคส์ต้องเดินทางฝ่าด่านกรด และด่านน้ำดี ฯลฯ ตกหายตายจากไประหว่างทางในทางเดินอาหาร กว่าจะถึงที่ตั้งรกรากในลำไส้ใหญ่พวกที่ยังคงมีชีวิตอยู่ก็ลดจำนวนลงไปมาก ดังนั้นเลือกจำนวนมากไว้ก็จะดีกว่า

เลือกไปแล้ว ลองไปแล้ว ไม่ถูกใจ สู้ของเดิมในลำไส้ของคุณไม่ได้ คุณก็หยุดกินโพรไบโอติคส์ ประมาณสัก 2 สัปดาห์ จุลินทรีย์ที่เคยตั้งรกรากอยู่เดิมในลำไส้ใหญ่ของคุณก็จะค่อยๆเพิ่มจำนวนหรือลดจำนวนกลับมาคล้ายคลึงกับของเดิมที่คุณเคยมีอยู่


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.