ดูบทความตอนที่ 1 ได้ที่
แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 1 ?
จะรักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร
มียาหลายชนิดที่แนะนำให้ใช้ในการรักษา หนึ่งในนั้นคือ แคลเซียม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังช่วยในการคงระดับแคลเซียมตามที่ร่างกายต้องการ ทำให้ไม่เกิดการสลายกระดูกอันเนื่องมาจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทั้งนี้ขนาดยาที่แนะนำ คือ รับประทานแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม และแนะนำให้รับประทานวิตามินดี 400 – 800 ยูนิต ร่วมด้วย
1
มีวิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือไม่
การป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุดคือการทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ซึ่งต้องเริ่มมาตั้งแต่วัยเยาว์ นั่นคือจะต้องมีการเสริมสร้างมวลกระดูกตั้งแต่เด็ก เพื่อการเจริญเติบโต และทำให้มวลกระดูกมีค่าสูงสุดในช่วงอายุที่ควรมีความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงที่สุด ซึ่งจะเป็นการสะสมต้นทุนให้กระดูกแข็งแรงและมีคุณภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ หลังจากนั้นเมื่อเริ่มมีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงอย่างช้าๆ ก็ควรทำการเสริมสร้างกระดูกเพื่อทดแทนการสูญเสีย และในที่สุดเมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยสูงอายุ การเสริมมวลกระดูกยิ่งมีความจำเป็น เพราะมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลงอย่างรวดเร็ว และจะลดลงอย่างต่อเนื่องในวัยสูงอายุ ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยของร่างกาย มีโรคประจำตัว และใช้ยาหลายชนิด จึงมีโอกาสหกล้มง่าย และเกิดกระดูกหักได้บ่อย ดังนั้น ข้อที่ควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนสำหรับประชาชนทุกวัย
1 คือ
- ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนัก และ มีการใช้แรงต้าน เช่น วิ่งเหยาะ เดินสลับวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินขึ้นบันได ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล กระโดดเชือก เป็นต้น ในกรณีผู้สูงอายุ ไม่ควรวิ่ง หรือเล่นกีฬาหนักๆ แต่ควรออกกำลังกายที่เบาลง ได้แก่ เดินเร็วๆ เดินขึ้นบันได รำมวยจีน รำจี้กง รำไท้ฉี และควรออกกำลังกายครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยให้ได้แคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี และ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป
- หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมได้มากพอ ก็ให้รับประทานยาเม็ดแคลเซียมแทนหรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม
- รับแสงแดดอย่างพอเพียง เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ มีรายงานว่า การรับแสงแดดเพียง 30 นาที ผิวหนังจะสามารถสร้างวิตามินดีให้กับร่างกายได้ถึง 200 ยูนิต โดยเวลาที่เหมาะสม คือ 8.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 17.00 น.3
- ลดพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
- ปรับวิถีชีวิตให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
- ควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
- ปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโอกาสการหกล้ม เช่น เก็บสายไฟไม่ให้เกะกะตามพื้นเพื่อมิให้สะดุดสายไฟ เช็ดพื้นที่เปียกน้ำทันที ติดแผ่นยางกันลื่นในพื้นห้องน้ำ ติดแสงไฟ เปลี่ยนแว่นสายตาหากมองภาพไม่ชัด
มีอาหารอะไรบ้างที่มีแคลเซียมสูง
อาหารที่มีแคลเซียมสูง คือ นม ปลาตัวเล็กตัวน้อย กะปิ กุ้งแห้ง ผักคะน้า ดังแสดงในตารางที่ 2 รู้อย่างนี้แล้ว การดื่มนม หรือการรับประทานผัดผักคะน้าน้ำมันหอย หรือน้ำพริกกะปิ ก็จะได้แคลเซียมในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามต้องรับประทานแต่พอดี
การรับประทานใบชะพลู ใบยอ ปริมาณมากโดยหวังจะได้แคลเซียมมากนั้นไม่เป็นประโยชน์ เพราะลำไส้สามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงครั้งละ 500 มิลลิกรัม แต่กลับมีรายงานที่น่าตกใจว่า การรับประทานใบชะพลู ใบยอ ปริมาณมากอาจเกิดนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้ เนื่องจากใบชะพลู 100 กรัม มีสารออกซาเลต 1,088 มิลลิกรัม และใบยอ 100 กรัม มีสารออกซาเลต 387.6 มิลลิกรัม ซึ่งค่อนข้างสูง ออกซาเลตที่มากเกินไปจะตกผลึกเป็นนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาว
รับประทานแคลเซียมเท่าไหร่จึงจะพอดี
ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำสำหรับผู้สุงอายุ คือ วันละ 1,000 มิลลิกรัม หากรับประทานได้ตามนี้ก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ โดยควรแบ่งรับประทานมื้อละ 500 มิลลิกรัม แคลเซียมจึงจะถูกดูดซึมได้ดี
หากจะรับประทานแคลเซียมเม็ด ควรพิจารณาว่ายาเม็ดแคลเซียมนั้นอยู่ในรูปเกลือใด เพราะเกลือแคลเซียมแต่ละชนิดให้ธาตุแคลเซียมได้ไม่เท่ากัน กล่าวคือ แคลเซียมคาร์บอเนตจะให้แคลเซียมได้ร้อยละ 40 แคลเซียมซิเตรตให้แคลเซียมได้ร้อยละ 21 และแคลเซียมกลูโคเนตให้แคลเซียมได้ร้อยละ 9
เกลือแคลเซียมเหล่านี้ยังมีอัตราการละลายไม่เท่ากัน กล่าวคือ แคลเซียมซิเตรตละลายดีกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต เกลือที่ละลายดีกว่าก็จะถูกดูดซึมได้เร็วกว่า ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรรับประทานแคลเซียมซิเตรตจะดีกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต และควรรับประทานก่อนอาหารเนื่องจากสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหารจะช่วยละลายเกลือแคลเซียมเหล่านี้ หากรับประทานหลังอาหารก็จะมีการละลายของเกลือแคลเซียมลดลง
ปัญหาของการใช้แคลเซียม
ปัญหาสำคัญของการรับประทายยาเม็ดแคลเซียม คือ ท้องผูก
4 จึงควรแนะนำให้ดื่มน้ำตามมากๆ และรับประทานผลไม้ให้มากขึ้น
แคลเซียมมีปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด
4 เช่น ยาต้านจุลชีพฟลูออโรควิโนโลน ยาต้านจุลชีพเตตร้าไซคลิน ทำให้ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมน้อยลง จึงควรรับประทานยาเม็ดแคลเซียมให้ห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
เร็วๆ นี้มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย แต่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราช้ากว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
5 ซึ่งเกิดโอกาสเสี่ยงได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การเสริมแคลเซียมมากก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้แก่ผู้สูงอายุ
สรุปแล้วแคลเซียมมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุนหรือไม่
โดยสรุป แคลเซียมยังคงมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุน สามารถนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ โดยควรได้รับแคลเซียมในขนาดที่เหมาะสมคือไม่เกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม และรับประทานแต่ละครั้งไม่เกิน 500 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในขนาดสูงกว่านี้ เนื่องจากการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันว่าการรับประทานแคลเซียมขนาดสูงจะเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกจนถึงขนาดที่จะลดโอกาสเกิดกระดูกหัก
เอกสารอ้างอิง
- แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
- กอบจิตต์ ลิมปพยอม. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. โรคกระดูกพรุนคืออะไร Available at: http://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=20. Accessed date: 9 Aug 2014.
- ศุภศิลป์ สุนทราภา. ตากแดดวันละนิดพิชิต “กระดูกพรุน” Available at: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/9978. Accessed date: 9 Aug 2014.
- Calcium. Available at: http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-781-calcium.aspx?activeingredientid=781&activeingredientname=calcium. Accessed date: 9 Aug 2014.
- Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, et al. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. BMJ 2010;341:c3691.