Knowledge Article


ร้านยาคุณภาพ: จะรู้ได้อย่างไร


อาจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
43,303 View,
Since 2014-08-10
Last active: 18m ago
https://tinyurl.com/y742kol2
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ปัจจุบันการรับรองคุณภาพเป็นแนวโน้มที่นิยมเพราะเป็นการประกันคุณภาพและบริการที่จะได้รับ การรับรองคุณภาพร้านขายยาต่างจากการรับรองคุณภาพร้านอาหารตรงที่ถ้าร้านยาไม่มีคุณภาพจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่คนไข้ ในขณะที่การรับรองคุณภาพร้านอาหารถ้าเกิดความผิดพลาดผลกระทบก็เป็นเพียงแค่ไม่อร่อยแต่ไม่มีอันตรายเพราะผู้บริโภคมีสุขภาพแข็งแรงดี ต่างจากการรับบริการที่ร้านขายยาที่ผู้บริโภคอาจมีอาการเจ็บป่วย ความผิดพลาดจากการไม่มีคุณภาพจะส่งผลรุนแรงกว่า

ในวงการเภสัชกรรมมีผู้รับผิดชอบหลักด้านการกำกับดูแลคุณภาพร้านยา 2 หน่วยงาน ได้แก่กระทรวงสาธารณสุขและสภาเภสัชกรรม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีการประสานความร่วมมือ และทำงานร่วมกันอย่างดีจนเกิดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยและอุ่นใจ

ปลายปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้บังคับใช้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการขอใบอนุญาตและออกใบอนุญาตขายยายแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 เพื่อควบคุมคุณภาพร้านยาในหลายประเด็นเช่น การมีเภสัชกรประจำการตลอดเวลาที่เปิดทำการ การควบคุมคุณภาพสถานที่และยา รวมทั้งการบริการทางเภสัชกรรม

นอกจากมาตรการในการควบคุมบังคับแล้วยังมีการส่งเสริมให้ร้านขายยาเข้ารับการรับรองคุณภาพโดยมีการประกาศเกณฑ์มาตรฐานร้านยาคุณภาพเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

ในฐานะผู้บริโภคพึงต้องมีความรู้เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ตนเองในการเลือกรับบริการร้านขายยาโดยใช้เกณฑ์ในการสังเกตง่ายๆ ซึ่งคัดเลือกส่วนสำคัญที่ท่านจะสังเกตเห็นเมื่อท่านรับบริการแล้วท่านจะสามารถแยกแยะได้ว่าร้านนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ดังนี้

1. ด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งสนับสนุนบริการ
  • สถานที่

    สถานที่ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร สังเกตจากถ้าเป็นอาคารพาณิชย์กว้าง 4 เมตร ร้านยานั้นต้องมีความลึกหรือยาวไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตร
    • มีความะอาด มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเท และมีระบบป้องกันอัคคีภัย
    • มีบริเวณให้คำแนะนำอย่างเป็นสัดส่วน
    • มีบริเวณจัดแสดงสื่อความรู้เพื่อสุขภาพ
    • มีป้ายแสดงว่าเป็นร้านยา และป้ายแสดงรูปถ่าย เลขที่ใบประกอบวิชาชีพ รวมถึงเวลาปฏิบัติการของเภสัชกรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่



    • มีป้ายสัญลักษณ์ประเภทใบอนุญาต อย่างกรณีร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 จะขายยาอันตรายตามใบสั่งแพทย์และยาบรรจุเสร็จ ยาสามัญประจำบ้าน



  • ด้านอุปกรณ์
    • ต้องแยกอุปกรณ์นับเม็ดยาปฏิชีวนะประเภทเพนนิซิลิน และซัลโฟนาไมด์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิตู้เก็บยาแช่เย็นอย่างสม่ำเสมอ ท่านสามารถสอบถามถึงการปฏิบัติตามเกณฑ์นี้ได้กับเภสัชกรประจำร้านทุกคน
    • สิ่งสนับสนุนในร้านควรมี ตำรา แหล่งข้อมูล รวมทั้งฉลากช่วย เอกสารความรู้ให้บริการอย่างเหมาะสม

2. การบริหารจัดการคุณภาพ แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
  • ด้านบุคลากร
    • ต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดทำการ และต้องแต่งกายตามข้อกำหนดของสภาเภสัชกรรม

    • ถ้ามีผู้ช่วยเภสัชกรควรแสดงตนและต่างกายให้ทราบว่าเป็นผู้ช่วยเภสัชกรอย่างชัดเจน ไม่สร้างความสับสน
  • ด้านกระบวนการคุณภาพ
    • มีการสอบถามเพื่อระบุผู้ใช้ยาที่แท้จริง (ใครเป็นคนต้องการใช้ยาที่มาซื้อ) และมีการสอบถามอาการอย่างถี่ถ้วนก่อนสั่งใช้ยา หรือขายยานั้นๆ รวมถึงมีแฟ้มประวัติการใช้ยาเพื่อการให้บริการที่ถูกต้อง และปลอดภัย
3. การบริการทางเภสัชกรรมที่ดี สิ่งที่ท่านควรสังเกตคือ
  • มีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบยาให้ท่านเอง และต้องอธิบายการใช้ยาและการปฏิบัติตัวอื่นๆที่จำเป็น
  • มีฉลากกำกับยาบนบรรจุภัณฑ์อย่างครบถ้วน ประกอบด้วย ชื่อสถานบริการ หมายเลขโทรศัพท์ ชื่อผู้ป่วย วันที่จ่ายยา ชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา ข้อบ่งใช้ วิธีใช้ ข้อควรระวัง และวันหมดอายุ
  • ไม่ควรส่งมอบยาให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ในกรณีที่จำเป็นควรต้องมีวิธีการทีเหมาะสมและรัดกุม
เมื่อท่านทราบข้อสังเกตเหล่านี้ ควรนำใปตรวจสอบร้านยาที่ท่านรับบริการอยู่เป็นประจำว่าสอดคล้องตามเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยแก่ตัวท่านเอง

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กฎกระทรวงสาธาณสุข การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556
  2. http://newsser.fda.moph.go.th/advancepharmacy/apache-tomcat-5.5.23/webapps/ROOT/theway.html สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2557

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.