ยาเตรียมเจลเป็นรูปแบบยาที่มีลักษณะเหมือนเจลลี่ เนื้อเจลเกิดจากการกระจายสารก่อเจลที่เป็นพอลิเมอร์ซึ่งมีโมเลกุลใหญ่ในปริมาณพอเหมาะลงในตัวทำละลาย ทำให้ได้ห่วงโซ่พอลิเมอร์ในลักษณะร่างแหสามมิติในตัวทำละลายได้ความหนืดที่สูง และเป็นพันธะระหว่างพอลิเมอร์กับตัวทำละลายที่คงสภาพมากทีเดียว เนื้อเจลที่ค่อนข้างโปร่งใส โดยตัวทำละลายส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ
ตัวยาหรือสารออกฤทธิ์ที่ใช้อาจเป็นสารบริสุทธิ์ที่สังเคราะห์ กึ่งสังเคราะห์ หรือสารสกัดจากสมุนไพร
ผู้พัฒนาตำรับยาเตรียมเจลสมุนไพร ต้องมีความรอบรู้และประสบการณ์ในส่วนต่อไปนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิผลสูงสุดสำหรับผู้บริโภค
- สารก่อเจลในตัวทำละลาย ได้แก่ การเลือกใช้พอลิเมอร์และความเข้มข้นที่เหมาะสม เช่น คาร์โบเมอร์ในปริมาณ 0.5-1.5% โดยน้ำหนัก พอโลซาเมอร์ ในปริมาณ 10-20% โดยน้ำหนัก เป็นต้น
- ตัวยาหรือสารออกฤทธิ์ที่ใช้อาจเป็นสารบริสุทธิ์ที่สังเคราะห์ กึ่งสังเคราะห์ หรือสารสกัดจากพืชสมุนไพรมาทำให้บริสุทธิ์พร้อมใช้ (pure extract) หรืออาจใช้สารสกัดดิบ (crude extract)
- ตำรับ ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆ ได้แก่ ตัวยา สารก่อเจล สารต้านออกซิเดชั่น สี และสารแต่งกลิ่น ซึ่งต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง รวมทั้งประกาศ และกฎกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
- กรรมวิธีการเตรียมที่เหมาะสม และตามลำดับขั้นตอน
- ภาชนะบรรจุที่สามารถปกป้องผลิตภัณฑ์ ไม่เกิดอันตรกิริยากับผลิตภัณฑ์ รวมถึงความสวยงามของภาชนะบรรจุเพื่อดึงดูดใจลูกค้า
ตำรับเจลว่านหางจระเข้
วิธีการเตรียมตำรับ 1: เจลว่านหางจระเข้บำรุงผิว
- เตรียมน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ โดยนำใบว่านหางจระเข้มาปอกผิวเปลือกด้วยใบมีดคม ล้างให้สะอาดเพื่อปราศจากฝุ่นและยางสีขาวที่ทำให้เกิดอาการคันหรือแพ้ได้ หั่นเป็นรูปเต๋าขนาด 1 ซม. หรือโตกว่าเล็กน้อย ชั่งมา 100.0 กรัม หรือมากกว่า ปั่นด้วยเครื่องปั่น ไม่นานมากนัก กรองด้วยผ้าไนลอนขาวบาง การเตรียมเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวขึ้นไป เช่น ยาเตรียมทั้งตำรับ 200 กรัมหรือมากกว่าขึ้นไป จะทำให้เตรียมตำรับง่ายมากขึ้น
- ชั่งน้ำวุ้นว่านหางมา 80.0 กรัม ใส่น้ำบริสุทธิ์ตามสูตร คนให้เข้ากัน
- ชั่งและนำ disodium edetate มาละลายใน 2. เพื่อเตรียมส่วน A
- ชั่งคาร์โบเมอร์ตามสูตร ค่อยๆ โปรยลงไปในส่วน A คนจนพองตัวหมด โดยค่อยๆ คนแล้วตั้งทิ้งไว้ เพื่อให้ฟองอากาศเล็กๆ ลอยขึ้นมาหมด
- ชั่งและละลาย germaben II ใน propylene glycol เพื่อเตรียมส่วน C
- เทส่วน C ลงใน 4. ช้าๆ พร้อมกับคนให้เข้ากัน
- ผสมสีลงไปให้มีสีเขียวอ่อนๆ โดยใช้ FD & C yellow dye และ FD & C blue dye
- ค่อยๆ หยด trolamine (triethanolamine, TEA) ลงไป จนได้ pH 6.0 + 0.5 พร้อมคนช้าๆ จะได้เจลหนืดขึ้น
วิธีการเตรียมตำรับ 2: เจลว่านหางจระเข้บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
- ในส่วน A ให้ลดน้ำที่จะผสมน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ลงตามสูตร
- ละลาย disodium edetate ลงไปช้าๆ จนละลายหมด
- ละลาย trolamine salicylate ลงไปช้าๆ จนละลายหมด
- เตรียมตามลำดับขั้นตอนในข้อ 4-8 ของวิธีการเตรียมตำรับแรก
วิธีการเตรียมตำรับ 3: เจลว่านหางจระเข้กันแดดอย่างอ่อน/บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
- วิธีการเตรียมตำรับนี้คล้ายคลึงกับตำรับ 2 คือ ในส่วน A ให้ลดปริมาณน้ำลงตามสูตร แตกต่างกันที่ส่วน C ให้ละลายสารกันแดดเพิ่มอีก 1 ตัว คือ benzophenone-9
- ลำดับขั้นตอนในการเตรียมเช่นเดียวกันกับตำรับ 1 และ 2
สรรพคุณของตำรับ 1 เจลว่านหางจระเข้บำรุงผิว
วุ้นในใบว่านหางจระเข้มีสารเคมีอยู่หลายชนิด เช่น aloe-emidin, aloesin, aloin, glycoprotein และอื่นๆ วุ้นหรือน้ำเมือกของว่านหางจระเข้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง เพราะในวุ้นใบว่านหางจระเข้นอกจากจะมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย แล้วยังช่วยสมานแผลได้ด้วย
สรรพคุณของตำรับ 2 เจลว่านหางจระเข้บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
นอกจากจะมีสรรพคุณตามตำรับ 1 ยังสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อจากการเล่นกีฬา หรือทำงาน
สรรพคุณของตำรับ 3 เจลว่านหางจระเข้กันแดดอย่างอ่อน/บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ
นอกจากจะมีสรรพคุณตามตำรับ 1 และ 2 ยังสามารถกันแดดรำไรได้พอสมควร หากต้องการผลกันแดดเช่นนี้ ควรทาผิวหนังซ้ำทุก 4-5 ชั่วโมง ไม่ควรเดินหรืออยู่ในที่มีแดดจัดหรือแดดจ้า เพราะไม่มีความสามารถกันแดดจ้าได้
ตำรับเจลว่านหางจระเข้ต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นมีอายุการใช้งานไม่นานมากนัก พยายามใช้ให้หมดภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ยังคงประสิทธิภาพของว่านหางจระเข้อยู่
เอกสารอ้างอิง
- มนตรี ถนอมเกียรติ. สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์เจล. ใน: ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์, พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์, วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ, กอบธรรม สถิรกุล, บรรณาธิการ. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เจล: ตำรับยาทาผิวหนังและเครื่องสำอาง. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2535: 155-162.
- Pounikar Y, Jain P, Khurana N, Omray LK, Patil S. Formulation and characterization of aloe vera cosmetic herbal hydrogel. International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2012; 4, Suppl 4: 85-86.
- Feuch CL, Patel DR. Analgesics and anti-inflamatory medications in sports: use and abuse. Pediatric Clinics of North America 2010; 57(3): 751-774.
- Wright E. Musculoskelatal disorders. In: Barardi RR, Ferreri SP, Hume AL, eds. Handbook of nonprescription drugs, 16th ed. Washington, DC: American Pharmacists Association; 2009: 95-113.