Knowledge Article


ยาต้านมะเร็ง


เภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
103,389 View,
Since 2013-10-21
Last active: 2m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ยาในกลุ่มนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน ตั้งแต่ ยาเคมีบำบัด ยาคีโม ที่มาจากคำว่า chemotherapy รวมไปถึงชื่อเรียกสั้นๆว่า ยามะเร็ง จุดมุ่งหมายในการใช้มีหลายประการด้วยกัน เช่น การให้ยาก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง หรือการให้ยาหลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้นยังให้ยาเพื่อรักษามะเร็งโดยตรง ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มตามเป้าหมายของยาในการออกฤทธิ์ได้ 4 กลุ่มดังนี้
  1. กลุ่มที่มีผลต่อดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้สายดีเอ็นเอไม่พร้อมสำหรับการจำลองตัวเอง (DNA replication) จึงไม่มีสารพันธุกรรมสำหรับการแบ่งเซลล์ขั้นต่อไป ได้แก่ cyclophosphamide, ifosfamide, mitomycin, cisplatin, carboplatin, oxaliplatin, bleomycin, topotecan, irinotecan, doxorubicin, epirubicin, idarubicin, etoposide และ teniposide เป็นต้น
  2. กลุ่มที่มีผลต่อการสังเคราะห์สารเมตาบอไลต์ (metabolite) ทำให้ไม่มีสารที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของเซลล์ เป็นผลลัพธ์ให้เซลล์ตาย ได้แก่ methotrexate, 6-mercaptopurine, 6-thioguanine, fludarabine, cladribine, clofarabine, pentostatin, 5-fluorourasil, floxuridine, tegafur, capecitabine, cytarabine, ancitabine, gemcitabine, azacitidine และ decitabine เป็นต้น
  3. กลุ่มที่มีผลต่อการแบ่งเซลล์ สปินเดิล (spindle) และทูบูลิน (tubulin) ขัดขวางการทำงานในกระบวนการแบ่งเซลล์ ผลลัพธ์คือ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนต่อไปได้ ได้แก่ vincristine, vinblastine, vinorelbine, paclitaxel และ docetaxel เป็นต้น
  4. กลุ่มที่มีผลต่อตัวรับของเซลล์ (cell receptor), ตัวส่งสัญญาณของเซลล์ (cell signaling) และกระบวนการสื่อสัญญาณ (signaling transduction) ขัดขวางการส่งสัญญาณที่จะทำให้เซลล์เติบโตจนผิดปกติ โดยยาในกลุ่มนี้จัดเป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเป้าหมาย (molecular targeted therapy) เนื่องจากมีความสามารถในการเลือกจับ (selectivity) ต่อเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ร่างกายปกติ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากลุ่มที่กล่าวไปก่อนหน้านั่นเอง ได้แก่ trastuzumab, cetuximab, panitumumab, imatinib, gefinitib, sorafenib, erlotinib, sunitinib, dasatinib และ lapatinib เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมียาต้านมะเร็งกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น ยาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน (hormone) เนื่องจากมะเร็งบางชนิดมีความไวต่อฮอร์โมนแตกต่างกัน เช่น มะเร็งเต้านมที่ไวต่อเอสโตรเจน (estrogen) หรือ มะเร็งต่อมลูกหมากที่ไวต่อเทสทอสโตรอน (testosterone) เป็นต้น ยาที่ใช้จึงเป็นยาที่มุ่งหวังไม่ให้ฮอร์โมนดังกล่าวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือ ลดการสร้างฮอร์โมนนั้นๆในร่างกาย บางตำรับอาจจัดยาในกลุ่มนี้ไว้กับยาในกลุ่มตัวรับของเซลล์ (cell receptor), ตัวส่งสัญญาณของเซลล์ (cell signaling) และกระบวนการสื่อสัญญาณ (signaling transduction) ก็ได้ ได้แก่ raloxifene, tamoxifen, anastrozole, letrozole, flutamide และ bicalutamide เป็นต้น

ยาต้านมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากจุดมุ่งหมายในการใช้ยาต้านมะเร็งตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น ยังมีการใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง เช่น การใช้ interferon alpha ในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำภายหลังการเป็น มะเร็งของเซลล์เม็ดสี (malignant melanoma) เป็นต้น รวมไปถึงการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (human papillomavirus vaccine)

อาการข้างเคียงของยาต้านมะเร็ง

เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย ทั้งเซลล์ร่างกายปกติและเซลล์มะเร็งย่อมได้รับผลกระทบจากยาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ที่มีการเจริญเติบโต ผลัดเซลล์ มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์เยื่อบุต่างๆ เซลล์เม็ดเลือด เซลล์เส้นผม ทำให้เซลล์เสียสภาพและตาย เกิดเป็นอาการข้างเคียงต่างๆ ดังนี้
  • คลื่นไส้อาเจียน พบแผลในปาก เนื่องจากเซลล์เยื่อบุต่างๆถูกทำลาย
  • เกิดสภาวะซีด เนื่องจากเซลล์ที่กำลังแบ่งเซลล์เป็นเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
  • ติดเชื้อง่าย เพราะภูมิคุ้มกันลดลง เนื่องจากเซลล์ที่กำลังแบ่งเซลล์เป็นเม็ดเลือดขาวถูกทำลาย
  • ผมร่วง เนื่องจากเซลล์ที่กำลังแบ่งเซลล์เป็นเส้นผมถูกทำลาย


ในส่วนของยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีน อาจทำให้ก่อไข้ได้ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วภายหลังการรักษา หรือ หยุดใช้ยา ร่างกายจะปรับตัว ทำให้อาการข้างเคียงต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ เช่น คลื่นไส้อาเจียนลดลง ผมงอกขึ้นใหม่ เป็นต้น ปัจจุบันมียาต้านมะเร็งกลุ่มใหม่ๆ ที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเป้าหมาย รวมทั้งแนวทางการให้ยาป้องกันอาการข้างเคียงในบางกรณีที่มีประสิทธิภาพ เช่น การให้ยาต้านอาเจียนก่อนการให้ยาต้านมะเร็ง เป็นต้น จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ลดลง โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจการเลือกใช้ยาต้านมะเร็งและแนวทางการป้องกันอาการข้างเคียงจากยาต้านมะเร็ง ผู้ป่วยสามารถสอบถามจากแพทย์ได้โดยตรง

การดูแลตัวเอง สังเกตสิ่งผิดปกติของร่างกายเป็นสิ่งที่ดี และเมื่อพบสิ่งผิดปกติควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแล อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรกังวลถึงอาการข้างเคียงมากจนเกินไป เพราะสภาพจิตใจของผู้ป่วยเองเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการรักษาโรคมะเร็งให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยา หรือการรักษา สามารถสอบถามเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้ดูแล และเภสัชกร และสำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”

เอกสารอ้างอิง

  1. ภูธร แคนยุกต์. ยาต้านมะเร็ง. ใน: โอภา วัชระคุปต์, บรรณาธิการ. เคมีของยา ฉบับ 1. กรุงเทพฯ: พี.เอส.พริ้นท์; 2551, หน้า 347-387.
  2. Ascierto PA, Gogas HJ, Grob JJ, Algarra SM, Mohr P, Hansson J, et al. Adjuvant interferon alfa in malignant melanoma: an interdisciplinary and multinational expert review. Crit Rev Oncol Hematol. 2013;85(2):149-61.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.