Knowledge Article


เชื้อโปรโตซัว และจิตเภท


รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
64,454 View,
Since 2013-10-09
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และแมวที่มีมายาวนาน ตั้งแต่การเลี้ยงแมวเพื่อใช้ในจับหนูหรือสัตว์อื่นๆที่คอยทำลายธัญญพืช-ผลผลิตทางเกษตร ในปัจจุบันแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมประจำบ้าน ที่แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับโรค-เชื้อก่อโรคชนิดต่างๆได้แก่ แบคทีเรีย โรคจากรา โปรโตซัว และพยาธิ แต่โรคทางจิตเภทมีความสัมพันธ์เช่นใดกับแมว

ตำราที่เขียนในปีค.ศ. 1896 โดย Kraepelin ที่กล่าวถึงข้อสังเกตว่าโรคจิตเภทที่เรียกว่า dementia praecox หรือ schizophrenia อาจเกิดจากโรคติดเชื้อที่ส่งผลต่อสมอง และมีผู้ตั้งสมมติฐานถึงโรคจิตเภทที่อาจเกิดจากความอ่อนแอทางกายภาพหรือแม้แต่จากโรคติดเชื้อบางชนิด ต่อมา พบว่าในผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติทางพฤติกรรมบางอย่าง มีผลสืบเนื่องจากโรคติดเชื้อ เช่น โรคมาเลเรีย เมื่อติดเชื้อโปรโตซัว Plasmodium โรคไข้ง่วงหลับหรือ sleeping sickness จากเชื้อ Trypanosoma เป็นต้น มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากโดย Torrey เมื่อปี 2549 ที่พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนมากขึ้น ระหว่างผู้ป่วยจิตเภทและการติดเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii (T. Gondii)

T. gondii เป็นโปรโตซัวที่อาศัยในเซลล์ การสืบพันธุ์มีทั้งอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทำให้พบรูปร่างมากกว่าหนึ่งแบบ ได้แก่ Oocyst, Tachyzoites, Bradyzoites พัฒนาจาก Tachyzoites โดยเจริญแบ่งตัวช้าๆเพื่อปรับให้ดำรงชีพอยู่ได้ในเนื้อเยื่อเช่น กล้ามเนื้อ สมอง เซลล์ประสาท ของเจ้าบ้าน ทำให้เกิดอาการโรคที่เรื้อรังในโฮสท์เจ้าบ้าน (definitive host) ซึ่งเป็นสัตว์ในวงศ์ Felidae ได้แก่ แมวบ้านทั้งหลายนี้เอง นอกจากนี้ ยังพบ T. gondii ได้ในสัตว์กัดแทะ เช่น หนู ในสัตว์เศรษฐกิจเช่น หมู วัว ควาย แพะ แกะ และสัตว์ที่คนนำมาเป็นอาหาร

โรค Toxoplasmosis ที่พบครั้งแรกในสัตว์ฟันแทะที่แอฟริกาเหนือ และติดต่อมาสู่คนได้จึงเป็นโรคจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ที่พบทั่วโลก จากการที่แมวกินเนื้อสัตว์ที่มี bradyzoites หรือกิน oocyst ที่ปนเปื้อนในดิน โดยในลำไส้แมว oocyst แตกตัวเป็น sporozoite มีการสืบพันธุ์แบบมีเพศเพิ่มจำนวนอยู่ในลำไส้ ท้ายสุดอุจจาระของแมวนี้มี oocyst ปนเปื้อนออกมา ในลักษณะไข่ที่มีเปลือกหุ้มและทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอก ทำให้เกิดการปนเปื้อนอยู่ในดิน ในธรรมชาติ แปลงผัก พืช ผลไม้ ส่วนสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น สัตว์กินเนื้อหรือสัตว์กินพืช ที่กิน oocyst เข้าไป จะเจริญเป็น cyst ในกล้ามเนื้อหรือ bradyzoites

ในคนนั้นจะเกิดโรค toxoplasmosis เมื่อกิน bradyzoites หรือ oocyst โดยได้เชื้อที่ปนเปื้อนดังต่อไปนี้
  • บริโภคเนื้อสัตว์เช่น เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อวัว ที่มี cyst และปรุงแบบสุกๆดิบ
  • ได้รับเชื้อจากการปนเปื้อนในลักษณะ
    • ทำงานเกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ที่มีโปรโตซัวแล้วใช้มือที่ปนเปื้อนหยิบจับอาหาร
    • การใช้ภาชนะ มีด เขียงที่ปนเปื้อนจากการใช้กับเนื้อสัตว์ที่มีโปรโตซัว
      • การรับเชื้อหลังสัมผัสกับมูลแมว
        • ทำความสะอาดถาดขับถ่ายของแมวที่ขับโปรโตซัวออกมาในการถ่ายมูล
        • การสัมผัส-กินหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนมูลแมวหรือดินที่ปนเปื้อน
      • การให้เลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ แต่พบได้น้อยมาก
      • การถ่ายทอดจากครรภ์มารดาสู่ทารก


      นอกจากนี้ การกำจัดมูลแมวเลี้ยงตามบ้านเรือนทั่วไป ที่ทำให้แพร่สิ่งปนเปื้อนจากอุจจาระสัตว์เลี้ยงนี้ไปสู่สิ่งแวดล้อมและสัตว์ชนิดอื่น เช่น ตามแถบทะเลชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ทำให้นากและสัตว์ทะเลอื่นตายจากโปรโตซัวนี้

      การก่อโรคในคน

      1. การติดเชื้อ Toxoplasma ที่ไม่แสดงอาการ

      การติดเชื้อ Toxoplasma ในคนที่สุขภาพแข็งแรง เชื้อนี้จะสงบอยู่ คนได้ T. gondii จากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มี cyst โดยไม่ปรุงสุกด้วยความร้อน และจากการกินและดื่มสิ่งที่ปนเปื้อน oocyst จากสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวในชีวิตประจำวันเช่น แมว ซึ่งระยะติดต่อจากแมวสามารถแพร่กระจายได้ง่าย จากการที่แมวเดินไปได้ทั่วไม่จำกัดบริเวณ หรือการที่คนได้ระยะติดต่อจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่ที่กล่าวมานี้ ไม่แสดงอาการใดๆ

      2. การติดเชื้อ Toxoplasma ที่แสดงอาการ

      ในคนส่วนน้อย การติดเชื้อ T. gondii อาจปรากฏอาการอย่างอ่อน ส่วนการติดโรคในผู้สูงอายุ ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ อาการเจ็บป่วยที่พบมีระดับความรุนแรงต่างกัน โดยทั่วไปคือ ปวดศีรษะ มีไข้ ตามต่อมต่างๆบวมโต ปวดกล้ามเนื้อ และอาการที่คล้ายไข้หวัดทั่วไป การได้รับเชื้อสายพันธุ์ที่รุนแรงในผู้ป่วยที่อ่อนแอทำให้พบการติดเชื้อที่ปอด หรืออวัยวะภายในหลายตำแหน่ง รายงานจากสหรัฐอเมริกาและบราซิลที่พบการติดเชื้อที่ตา ทำให้เจ็บปวด แพ้แสง น้ำตาไหลและมองไม่เห็นภาพ

      การสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่าประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 10 ถึง 50 มีการสัมผัส (expose) T. gondii จากจำนวนประมาณการ คนในสหรัฐ 2839 คน จากจำนวน 1075242 คน แสดงอาการโรคทางสายตาจากการติดเชื้อ T. gondii และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการติดเชื้อนี้สูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

      2.1 การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก

        การติดเชื้อลักษณะนี้ เกิดระหว่างที่มารดาตั้งครรภ์ มีส่วนน้อยและมักเป็นผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำที่ติดเชื้อก่อนตั้งครรภ์ ความรุนแรงของโรคในเด็กจะมากขึ้นเมื่อมารดารับเชื้อช่วงการตั้งครรภ์ 2-4 เดือนแรก โดยความรุนแรงของการแสดงออกมีได้ตั้งแต่ การแท้งบุตรจากการที่ระยะ tachyzoite ไปสู่ทารกในครรภ์ หรือเด็กที่คลอดมีสัญญาณของ Toxoplasmosis เช่น ศีรษะบวมน้ำ (hydrocephalus หรือ microcephalus) แคลเซียมเกาะในสมอง (cerebral calcification) และม่านตาส่วนหลังอักเสบ (retinochorioditis) อาการที่อาจปรากฏในภายหลัง ได้แก่ อาการทางสายตาหรือที่เกี่ยวข้องกับประสาท ที่รวมถึงความบกพร่องในการเรียนรู้เมื่อเด็กโตขึ้นหรือปัญญาอ่อน ส่วนเด็กที่ได้รับผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ตาบอดหรือมีความผิดปรกติทางสมอง

      2.2 การติดเชื้อในผู้ภูมิต้านทานต่ำ

        ผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ มักพบภาวะสมองอักเสบ (toxoplasmosis encephalitis) จากการที่มีการกระตุ้น cyst หรือ bradyzoite ในเนื้อเยื่อในผู้ป่วย ทำให้เกิดพยาธิสภาพของเซลล์ประสาท มีการอักเสบหรือสร้างสารประกอบที่เป็นพิษต่อเซลล์สมอง อาการที่พบได้แก่ ปวดศีรษะ สับสน มีไข้ อ่อนแรง ที่อาจพัฒนาสู่การชัก หมดสติหรือ coma อาการอื่นนอกจากนี้ เช่น การพูดผิดปรกติ อัมพฤกษ์ครึ่งซีก ปอดอักเสบ อาจพบเป็นผลจากการติดเชื้อหลังการให้เลือด การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่ร่วมกับการให้สารกดภูมิคุ้มกัน

      ความผิดปรกติอื่นที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ T. gondii

      การศึกษาของ Torrey (2549) ชี้ถึงความเชื่อมโยงที่น่าสนใจของระดับภูมิคุ้มกันต่อ T. gondii และผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งผลที่ได้ สอดคล้องกับการใช้เทคนิคที่เรียกว่า ELISA เพื่อตรวจระดับภูมิคุ้มกันในบทความของ Cetinkaya (2550) จากตุรกี และรายงานในภาษาอื่นจากหลายภูมิภาค แสดงความเป็นได้ทางสถิติว่า โรคจิตเภทมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ T. gondii ซึ่งพบได้ทั่วโลก ในปี 2556 Fond สรุปอาการทางคลินิกที่มีผลจากการติดเชื้อ T. gondii ได้แก่:

      Toxoplasmosis และจิตเภท (Toxoplasmosis and schizophrenia) โดยเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์และช่วงต้นของชีวิต การศึกษาในสัตว์ พบว่าสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในระยะที่สัตว์โตเต็มที่ ในขณะที่ผู้ป่วยที่ผิดปรกติทางจิตจะตรวจพบระดับภูมิต้านทานที่สูงต่อ toxoplasma

      Toxoplasmosis และโรคย้ำคิดย้ำทำ (Toxoplasmosis and Obsessive Compulsive Disorder: (OCD) ระดับภูมิต้านทานชนิด IgG ต่อ toxoplasma ของผู้ป่วย OCD สูงกว่าที่พบในอาสาสมัครอย่างมีนัยสำคัญ

      Toxoplasmosis และความผิดปรกติของบุคคลิกภาพ (Toxoplasmosis and personality) ในเพศชายพบอาการดื้อรั้น ขี้อิจฉา ขาดความมั่นใจ ระมัดระวังเกินเหตุ ตัดสินใจช้า เจ้าระเบียบมากขึ้น ในสตรีจะรู้สึกไม่มั่นคง มักแสร้งทำตัวศักดิ์สิทธิ์-มีศีลธรรม

      มีรายงานการเชื่อมโยงโรคจิตเภทและอัตวินิบาตกรรมกับการติดเชื้อ toxoplasma โดยนอกจากที่ผู้ป่วยจิตเภทจะมีอัตราการตายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆที่สูงกว่าคนทั่วไปแล้ว จากการศึกษา พบการบ่งชี้ถึงการอักเสบในสมองของผู้ทำอัตวินิบาตกรรมรวมถึงในบุคคลซึมเศร้า ในปี 2555 Zhang และคณะ พบว่าในผู้ติดเชื้อ T. gondii อย่างรุนแรง มีระดับแนวโน้มในการทำอัตวินิบาตกรรมสูงในผู้ที่ไวในการแสดงอาการ และเช่นเดียวกับในกลุ่มสตรีหลังหมดประจำเดือน

      ผลการศึกษา-ผลการวิเคราะห์จากการรวบรวมข้อมูลข้างต้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในสังคมที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยตั้งแต่ผู้ที่มีความเครียดสูง ผู้มีความผิดปรกติทางจิต บุคคลิกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง จะต้องคำนึงถึงการตัดสินบุคคลเหล่านั้นจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาการเลี้ยงดู และภาวะทางสังคม ฯลฯ ว่าแท้จริงแล้ว ความผิดปรกติที่พบนั้น อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อบางชนิด ส่งผลกระทบต่อการแสดงออก/พฤติกรรมบางอย่าง ความเข้าใจเช่นนี้อาจนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความเข้าใจ และการรักษาแนวใหม่ต่อผู้ป่วยเหล่านี้

      เอกสารอ้างอิง

      1. Carruthers VB, Suzuki Y. Effects of Toxoplasma gondii infection on the brain. Schizophr Bull. 2007;33: 745-751.
      2. Cetinkaya Z, Yazar S, GeciciO, Namli MN. Anti-Toxoplasma gondii antibodies in patients with schizophrenia- preliminary findings in a Turkish Sample. Schizophr Bull. 2007; 33 (3): 789-791.
      3. Dickinson F, Boronow J, Stallings C, Origoni A, Yolken R. Toxoplasma gondii in Individuals With Schizophrenia: Association With Clinical and Demographic Factors and With Mortality. Schizophr Bull. 2007; 33(3): 737–740.
      4. Fond G. et al. Toxoplasma gondii: a potential role in the genesis of psychiatric disorders. Encephale. 2013; 39:38-43. (Abstract)
      5. Hinze-Selch D, Da?ubener W,Eggert L, Erdag S, Stoltenberg R,Wilms S. A controlled prospective study of Toxoplasma gondii infection in individuals with schizophrenia: beyond seroprevalence. Schizophr Bull. 2007; 33:782-788.
      6. Ling VJ, Lester D, Bo Mortensen P, Langenberg PW, Postolache TT. Toxoplasma gondii Seropositivity and Suicide rates in Women. J Nerv Ment Dis. 2011; 199(7): 440–444.
      7. Postolache TT; et al. Toxoplasma gondii and suicidal behavior. Neurology, psychiatry and brain research. 2012; 18:77.
      8. Torrey EF, Bartko JJ, Lun ZR, Yolken RH. Antibodies to Toxoplasma gondii in patients with schizophrenia: a meta analysis. Schizophr Bull. 2006; 33(3):729-736.
      9. Torrey EF, Bartko JJ, Yolken RH. Toxoplasma gondii and other risk factors for schizophrenia: an update. Schizophr. Bul. 2012; 38(3):642-647.
      10. Zhang Y. et al. Toxoplasma gondii Immunoglobulin G Antibodies and Nonfatal Suicidal Self-Directed Violence. J Clin Psychiatr. 2012; 73(8): 1069-1076.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.