Knowledge Article


ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย


บทความโดย คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
870,636 View,
Since 2010-05-09
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/y8feuyws
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดศีระษะที่พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่  สาเหตุของโรคเชื่อว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือ ปัจจัยกระตุ้น (trigger factor)จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลทำให้หลอดเลือดแดง (vasodilation) ทั้งด้านในและด้านนอกกระโหลกเกิดการขยายตัวได้มากและง่ายกว่าคนปกติ และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในที่สุด การค้นหาปัจจัยกระตุ้นให้พบและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้นเป็นการป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนที่ดีและปลอดภัย แต่อย่างไรก็ดีการใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนก็อาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ หรือเมื่ออาการกำเริบผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรง เป็นต้น ยาที่ใช้ในโรคปวดศีรษะไมเกรนอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน (abortive drugs)และยาที่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน (preventive drugs) ซึ่งยาที่พบว่ามีการใช้บ่อยและมีข้อควรระวังในการใช้ยาค่อนข้างมาก คือ ยา ergotamine ซึ่งเป็นยาประเภทที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน

Ergotamine คืออะไร

Ergotamine เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดศีรษะโดยการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) ชนิด 1B และ 1D (5-HT1B และ 5-HT1D) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติเกิดการหดตัวลงและทำให้อาการปวดศีรษะหายไปในที่สุด นอกจากนี้ ergotamine ยังสามารถกระตุ้นตัวรับอื่นๆ ได้ ได้แก่  α-1 และ dopamine-2 (D2) ซึ่งการกระตุ้นตัวรับเหล่านี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา ergotamine (รายละเอียดจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine )

   ในประเทศไทยยา ergotamine มีชื่อทางการค้า เช่น Cafergot®, Avamigran® Tofago® หรือ Poligot-CF® ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ  ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ผสมอยู่กับ caffeine 100 มิลลิกร้ม  ส่วน Ergosia®จะประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

การใช้ยา ergotamine ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

   การใช้ยา ergotamine สำหรับรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนจะต้องใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด  ขนาดการรับประทานยาที่เหมาะสม คือ รับประทานเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก 1 หรือ 2 เม็ด จากนั้นทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นสามารถรับประทานซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์ เนื่องจากหากรับประทาน ergotamine ในปริมาณที่มากกว่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งมีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนมากกว่าเดิมได้

 

การใช้ยา ergotamine อย่างผิดวิธีส่งผลเสียอย่างไร

   Ergotamine เป็นยาที่ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดศีรษะกำเริบเท่านั้น แต่ผู้ป่วยบางรายกลับรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาอย่างผิดวิธีที่อาจส่งผลเสียรุนแรงต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ การรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันไปเรื่อยๆ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือ หัวใจวายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว  นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันทุกวันนั้น หลอดเลือดแดงที่ผิดปกติจะถูกยา ergotamine ทำให้หดตัวอยู่ตลอดเวลาซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเลย แต่เมื่อใดที่หยุดรับประทานยาหลอดเลือดดังกล่าวจะขยายตัวอย่างมากและทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรง (rebound headache )

ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine

ผู้ป่วยที่รับประทานยา ergotamine อาจมีอาการดังต่อไปนี้

   - คลื่นไส้ อาเจียน:เป็นผลจากการกระตุ้นตัวรับ ชนิด D2 (D2-receptor) ซึ่งถ้าอาการรุนแรงสามารถแก้ไขได้โดยการรับประทานยาต้านอาเจียนกลุ่ม D2-receptor antagonist  คือ domperidone

   - ความดันโลหิตสูงขึ้น: เป็นผลจากการกระตุ้นตัวรับชนิด α1 (α1-receptor) ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว

   - ปลายมือ-เท้าเย็น หรือ ชา(numbness):เป็นผลจากการกระตุ้น α1-receptorเช่นกัน หากมีอาการรุนแรงร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ ขา หรือเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีป

   - ใจสั่น เจ็บหน้าอก: เป็นผลมาจากการกระตุ้นตัวรับ 5-HT1B ที่บริเวณหลอดเลือด coronary ที่หัวใจ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์

   - ปฏิกิริยากับยาอื่นๆหรือ ยาตีกัน (drug interaction): ยา ergotamine ถูกทำลายโดยใช้เอนไซม์ที่มีชื่อว่า Cytochrome P450 ชนิด 3A4 (CYP 3A4) ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทานร่วมกับยาที่มีผลยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว เช่น azithromycin, clarithromycin, ketoconazole, ritonavir หรือ verapamil เป็นต้น  เนื่องจากการรับประทานยาร่วมกันจะส่งผลทำให้ระดับยา ergotamine ในกระแสเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง หรือความเป็นพิษจากยาเพิ่มขึ้นได้ และเพื่อป้องกันการเกิด drug interaction ดังกล่าว ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ายาที่ตนเองรับประทานอยู่มีอะไรบ้าง

 

ข้อห้ามใช้ของยา ergotamine

   ผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยา ergotamine ได้แก่

   - ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ergotamine หรือสารที่เป็นอนุพันธ์ของ ergot alkaloid

   - ผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease)

   - ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับ และไต

   - ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)

   - ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้

   - ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)

   - ผู้หญิงตั้งครรภ์ (ทุกไตรมาส)

 


Ergotamineเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีประสิทธิภาพดี แต่มีข้อควระวังและข้อห้ามใช้ค่อนข้างมาก ดังนั้น การรับประทานยาอย่างถูกต้อง และ การเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นหนทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยา ergotamine ได้ดีที่สุด

 

บรรณานุกรม

  1. Ergotamine. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jan 27. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Apr 12].
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.