Knowledge Article


น้ำวีทกราส … น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี


กนกพร อะทะวงษา
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
232,291 View,
Since 2012-12-22
Last active: 2h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ในช่วงหลายปีมานี้หลายท่านคงคุ้นหูกับน้ำวีทกราส (Wheat grass juice) เครื่องดื่มสีเขียวเข้ม มีขายทั้งแบบคั้นสด ผงสำเร็จรูปชงน้ำดื่ม และแบบสารสกัดบรรจุแคปซูล หรืออัดเม็ดให้เลือกรับประทาน ซึ่งเจ้าน้ำวีทกราสที่กล่าวถึงกันนี้ก็คือ น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีนั่นเอง จากการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารในต้นอ่อนข้าวสาลีพบว่า ประกอบด้วยคลอโรฟิลล์ถึงร้อยละ 70 นอกจากนั้นยังพบวิตามินเอ ซีและอี แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม และกรดอะมิโนกว่า 17 ชนิด1

เนื่องจากน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารมีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับฮีม (heme) สารที่ร่างกายนำไปใช้ในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง จนได้ชื่อว่าเป็น “เลือดสีเขียว (Green Blood)”1 มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์การเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงของต้นอ่อนข้าวสาลีในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง พบว่าการรับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 30 - 100 มล. หรือรับประทานสารสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 1,000 มก. ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือด ลดปริมาณการให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Pack red cells) และลดจำนวนครั้งในการถ่ายเลือด (blood transfusion) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเด็กที่มีภาวะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย2 ในผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้า (beta-thalassemia)3 และในผู้ป่วย myelodysplastic syndrome (ผู้ป่วยมีความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ และอาจก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว)4

นอกจากนี้น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลียังป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัดได้ดี โดยพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 60 มล. ตลอดระยะเวลาการได้รับเคมีบำบัด ทั้ง 3 รอบ ช่วยป้องการเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ได้ดี มีผลเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีผลต่อการตอบสนองการได้รับการรักษาจากเคมีบำบัดของผู้ป่วย5 และการศึกษาในผู้ป่วยในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ที่ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 30 มล. ติดต่อกัน 6 เดือน พบว่าช่วยเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบิน เกล็ดเลือด และเพิ่มภูมิต้านทานได้ดี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น6

การศึกษาฤทธิ์อื่นที่น่าสนใจ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครที่ได้รับสารก่ออนุมูลอิสระ BPA (biphenol-A) ผ่านทางสิ่งแวดล้อม เมื่อให้ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี วันละ 100 มล. ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พบว่าปริมาณสาร BPA ในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยแนวโน้มการลดลงของ BPA สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ดื่มคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี7 และเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างต้นอ่อนข้าวสาลีกับสาหร่ายสไปรูริน่า ซึ่งเป็นสาหร่ายที่อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์จากธรรมชาติเช่นเดียวกัน พบว่าการรับประทานแคปซูลต้นอ่อนข้าวสาลี ขนาด 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 30 วัน เพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณวิตามินซี การทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และลดปริมาณ malondialdehyde ในเลือดของอาสาสมัครได้ดีกว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูริน่า เมื่อรับประทานในขนาดที่เท่ากัน8

นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบได้ดี เมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 100 มล. ติดต่อกัน 1 เดือน ช่วยบรรเทาอาการโดยรวมของโรคให้ดีขึ้น ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้และความถี่ของการถ่ายเป็นเลือดอย่างมีนัยสำคัญ9

จะเห็นได้ว่าน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งในแง่ของการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในผุ้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง ป้องกันการเกิดอันตรายจากอนุมูลอิสระ และรักษาอาการลำไส้อักเสบ โดยไม่พบความเป็นพิษหรืออาการข้างเคียงใดๆ ในขนาดรับประทานวันละ 30-100 มล. หรือแคปซูลขนาด 1,000 มก. ในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ - 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการใช้ในเด็กอ่อน หรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย อีกทั้งน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลีจะมีกลิ่นเหม็นเขียวคล้ายหญ้า จึงอาจกระตุ้นให้เกิดการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นดังกล่าวได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Padalia S, Drabu S, Raheja I, Gupta A, Dhamija M. Multitude potential of wheatgrass juice (Green Blood): An overview. Chron Young Sci 2010;1(2):23-8.
  2. Singh K, Pannu MS, Singh P, Singh J. Effect of wheat grass tablets on the frequency of blood transfusions in Thalassemia Major. Indian J Pediatr. 2010;77(1):90-1
  3. Marwaha RK, Bansal D, Kaur S, Trehan A. Wheat grass juice reduces transfusion requirement in patients with thalassemia major: A pilot study. Indian Pediatrics 2004; 41:716-20.
  4. Mukhopadhyay S, Basak J, Kar M, Mandal S, Mukhopadhyay A. The Role of Iron Chelation Activity of Wheat Grass Juice in Patients with Myelodysplastic Syndrome. J Clin Oncol 2009;27:15s, (suppl; abstr 7012)
  5. Bar-Sela G, Tsailic M, Fried G, Goldberg H. Wheat Grass Juice may improve Hematological Toxicity Related to Chemotherapy in Breast Cancer Patients: A Pilot Study. Nutr Cancer 2007;58(1):43-8.
  6. Dey S, Sarkar R, Ghosh P, et al. Effect of Wheat grass Juice in supportive care of terminally ill cancer patients- A tertiary cancer centre Experience from India. J of Clin Oncol 2006;18(1):8634
  7. Yi B, Kasai H, Lee HS, Kang Y, Park JY, Yang M. Inhibition by wheat sprout (Triticum aestivum) juice of bisphenol A-induced oxidative stress in young women. Mutat Res. 2011;18(724):64-8.
  8. Shyam R, Singh SN, Vats P, Singh VK, Bajaj R, Singh SB, Banerjee PK. Wheat grass supplementation decreases oxidative stress in healthy subjects: a comparative study with spirulina. J Altern Complement Med. 2007;13(8):789-91.
  9. Ben-Arye E, Goldin E, Wengrower D, Stamper A, Kohn R, Berry E, Wheat Grass Juice in the Treatment of Active Distal Ulcerative Colitis: A Randomized Double-blind Placebo-controlled Trial. Scand J Gastroenterol 2002;37(4):444-9.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.