Knowledge Article


ยาเบาหวาน ... กินอย่างไรให้ถูกต้อง


อาจารย์ เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
477,186 View,
Since 2012-10-07
Last active: 1 days ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
ยาเบาหวานแบ่งเป็นสองประเภทตามวิธีการใช้ยา คือ ชนิดกินและชนิดฉีด สำหรับยาเบาหวานชนิดฉีด ซึ่งมักเป็นฮอร์โมนอินซูลินนั้นไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนัก เนื่องจากคนไทยมักไม่ชอบที่จะฉีดยาและมักจะยอมฉีดเฉพาะเมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้จากการกินยาแล้วเท่านั้น ยาเบาหวานชนิดกินจึงเป็นที่รู้จักและนิยมของคนไทยมากกว่า บทความนี้จึงได้รวบรวมยากินแบบต่างๆ พร้อมวิธีการกินยาอย่างถูกต้อง โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ตามวิธีการกินยา ได้แก่ ยากินก่อนอาหาร พร้อมอาหารและหลังอาหาร

กินก่อนอาหาร

ยากลุ่มนี้ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายพร้อมที่จะใช้พลังงานจากแป้งและน้ำตาล โดยกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ณ เวลาที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากกินอาหาร โดยทั่วไปแล้วยารุ่นเก่ามักแนะนำให้กินก่อนอาหารประมาณ ๓๐ นาที ส่วนยารุ่นใหม่สามารถกินก่อนอาหารทันทีได้ขึ้นกับความเร็วในการกระตุ้นตับอ่อนของยาแต่ละตัว ยาที่แนะนำให้กินก่อนอาหาร ได้แก่



ข้อควรระวัง เมื่อกินยากลุ่มนี้ก่อนอาหารแล้ว จำเป็นต้องรับประทานทานอาหารหลังกินยาเสมอ เพราะถ้าไม่กินอาหาร ฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าระดับปกติ จนอาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่นเดียวกับกรณีลืมกินยา ไม่ควรกินยาหลังอาหารแทน เพราะยาจะออกฤทธิ์ในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงไปแล้ว จึงทำให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงไปมากกว่าเดิม โอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดจะต่ำกว่าระดับปกติจะมากขึ้น ควรเว้นยาที่ลืมกินไปโดยไม่ต้องทานเพิ่มเป็นสองเท่า สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลารับประทานอาหารที่แน่นอน เช่น บางวันไม่ทานมื้อเช้า บางวันไม่ทานมื้อเย็น การกินยากลุ่มนี้นอกจากจะไม่ได้ผลดีแล้ว ยังมีโอกาสเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติได้ง่ายอีกด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเป็นกรณีพิเศษ

กินพร้อมอาหาร

ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด จึงควรกินพร้อมกับมื้ออาหาร โดยทั่วไปแนะนำให้กินพร้อมกับอาหารคำแรก ยากลุ่มนี้ ได้แก่



ข้อควรระวังการกินยากลุ่มนี้ก่อนอาหารหรือหลังอาหารเป็นเวลานานๆ ยาจะไม่เจอกับน้ำตาลที่ย่อยและพร้อมจะดูดซึมอยู่ในลำไส้เล็ก ถ้าลืมกินยานี้พร้อมอาหาร อาจสามารถกินยาหลังอาหารทันทีได้ แต่ประสิทธิผลของยาจะน้อยกว่าการกินยาพร้อมอาหาร สำหรับมื้อที่ไม่ได้ทานอาหาร ไม่จำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้

กินหลังอาหาร

ยาเบาหวานหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ช่วยทำให้อวัยวะต่างๆ ใช้น้ำตาลในกระแสเลือดที่ดูดซึมหลังรับประทานอาหารเพื่อไปเก็บสะสมหรือเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ดีขึ้น จึงสามารถกินยาเหล่านี้หลังอาหารได้ทันที ยาหลังอาหารมีหลายกลุ่มด้วยกัน ผู้ป่วยหลายคนอาจต้องกินยาหลังอาหารมากกว่า 1 ชนิด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษามากขึ้น ยาเหล่านี้ ได้แก่



ข้อควรระวังยากลุ่มนี้ส่วนมากสามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่โดยทั่วไปจะแนะนำให้กินหลังอาหาร สำหรับ metformin ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้มาก มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร บ่อยครั้งจึงแนะนำให้ทานพร้อมอาหารคำแรก ซึ่งอาจช่วยลดอาการข้างเคียงนี้ได้ กรณีลืมกินยากลุ่มนี้หลังอาหารไม่นานมาก (ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง) สามารถทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้ใกล้อาหารมื้อถัดไปแล้ว ไม่ต้องกินยาที่ลืมควรเก็บยาไว้กินหลังอาหารมื้อถัดไปแทน

จะเห็นได้ว่ายาเบาหวานไม่ว่าจะกินก่อน กินพร้อมหรือกินหลังอาหาร ล้วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยคนละกลไก จึงอาจใช้ร่วมกันเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ภายใต้คำสั่งการใช้ยาของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรกินยาเบาหวานเหล่านี้ให้ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด การระมัดระวังควบคุมอาหารก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลรักษาตัวเองของผู้ป่วยเบาหวานทุกคน

เอกสารอ้างอิง

  1. Nolte MS, Karam JH. Pancreatic hormones and antidiabetic drugs. In: Katzung BG, editors. Basic and clinical pharmacology. 10th ed. New York:McGraw-Hill 2007;p.683-705.
  2. MIMS. Available from http://www.mims.com/. (Access: 25 September 2012).
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.