แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น. ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พอนสแตนเป็นยาที่แรงมากจริงไหมคะ ที่อนามัยบอกว่าห้ามกิน แล้วเวลาปวดประจำเดือน กินอะไรได้คะ

ถามโดย ผักโขม เผยแพร่ตั้งแต่ 22/08/2022-17:59:04 -- 225,037 views
 

คำตอบ

พอนสแตน (Ponstan) เป็นชื่อการค้า มีตัวยาสำคัญคือกรดเมเฟนามิกหรือเมเฟนามิกแอซิด (mefenamic acid) ยานี้มีฤทธิ์บรรเทาปวด ลดไข้ และลดอาการอักเสบ อยู่ในกลุ่มยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือ “เอ็นเสด” (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ “NSAIDs”) แม้จะมียาหลายอย่างที่ใช้รักษาอาการปวดประจำเดือนได้ (รวมถึงยาฮอร์โมนคุมกำเนิด) แต่ยาในกลุ่มเอ็นเสดโดยเฉพาะเมเฟนามิกแอซิดเป็นยาที่ใช้กันมาก บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่ามีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนดีกว่าไอบูโพรเฟน (ibuprofen) และนาพร็อกเซน (naproxen) เล็กน้อย ยาในกลุ่มเอ็นเสดมีผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือระคายกระเพาะอาหาร หากใช้บ่อยอาจเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ที่มักเรียกกันว่า “โรคกระเพาะ”) จึงไม่ใช้กับผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว จากคำถามที่ว่าพอนสแตน “เป็นยาที่แรงมาก” จริงหรือไม่นั้น น่าจะหมายถึงด้านผลไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เกิดการระคายกระเพาะอาหารได้มาก ไอบูโพรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าวน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการใช้ยาเหล่านี้ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที หรือดื่มน้ำตามในปริมาณมาก ส่วนยาในกลุ่มเอ็นเสดพวกที่เลือกยับยั้งเอนไซม์ค็อกซ์-2 หรือเจาะจงในการยับยั้งเอนไซม์นี้ แม้มีผลไม่พึงประสงค์ด้านระคายกระเพาะอาหารน้อย แต่จะพบผลไม่พึงประสงค์ผลต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือดได้มากกว่า (รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อยาในกลุ่มเอ็นเสด ประโยชน์ทางการแพทย์และผลไม่พึงประสงค์ อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)” โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/472) นอกจากนี้ยาพาราเซตามอลใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เช่นเดียวกันแม้จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า ด้วยเหตุนี้ในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนผู้ถามสามารถใช้ยาเมเฟนามิกแอซิด (พอนสแตน) หรือยาอื่นในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน โดยรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที หรือดื่มน้ำตามในปริมาณมาก เพื่อลดผลไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหาร หรืออาจเปลี่ยนไปใช้ยาพาราเซตามอล

Reference:
1. Nagy H, Khan MAB. Dysmenorrhea, updated: July 18, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560834/
2. Smith RP, Kaunitz AM. Dysmenorrhea in adult females: treatment, updated: August 12, 2022. https://www.uptodate.com/contents/dysmenorrhea-in-adult-females-treatment

Keywords:
mefenamic acid, ibuprofen, naproxen, paracetamol, กรดเมเฟนามิก, เมเฟนามิกแอซิด, ไอบูโพรเฟน, นาพร็อกเซน, พาราเซตามอล, ระคายกระเพาะอาหาร





ระบบสืบพันธุ์ อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้