หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาoriginal กับlocal made ผลข้างเคียงต่างกันมั้ยคะ เป็นความดันโลหิตสูงครั้งแรก160/110 หมอให้ plendril 5 mg ทานมาปีกว่าไม่มีอะไร หลังจากนั้นหมอให้felopine 5 ทานมาประมาณ 6เดือนรู้สึกลิ้นเหมือนอบท๊อฟฟี่นานๆหรือซดของร้อนจัด ดูเหมือนมีฝ้าขาวกว่าปกติพยายามแปรงลิ้นก็พอจางๆไม่สีชมพูเหมือนเดิมค่ะ ปวดกล้ามเนื้อแขนท่อนล่างและน่อง และประมาณ1อาทิตย์มานี้ดูเหมือนแสบท้องบริเวณกระเพาะอ่อนๆด้วยค่ะ ตอนนี้ความดันเหลือ134/84 มานานแต่เริ่มๆทานยาแล้ว แต่คุณหมอทำไมไม่ลดยาเหลือ2.5mg คะหรือคนไข้อายุมาก 56ปีค่ะ จะเปลี่ยนไปทานplendril ได้ไหมคะ พบคุณหมอยาก นัดอีก2เดือน รู้สึดปวดเมือยไม่สบายลิ้นกระเพาะค่ะ

ถามโดย ป้าหญิง เผยแพร่ตั้งแต่ 22/11/2013-06:53:30 -- 14,673 views
 

คำตอบ

Plendil (original) เป็นชื่อการค้าของยา felodipine ซึ่งไม่ว่าจะเป็น local made หรือ original ตัวยาสำคัญที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ก็คือ felodipine จากการสืบค้นไม่พบข้อมูลรายงานการเปรียบเทียบในแง่ผลทางคลินิกหรืออาการข้างเคียงระหว่าง felodipine แบบ original หรือ local made แต่มีการศึกษาในหลอดทดลองเปรียบเทียบความสามารถในการปลดปล่อยยาระหว่าง felodipine แบบ original และ local made ผลการศึกษาพบว่ายา local made บางยี่ห้อไม่สามารถควบคุมให้มีการปลดปล่อยยาได้ตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งแตกต่างกับยา original ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ felodipine แบบ local made บางยี่ห้ออาจไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามการที่คุณรับประทาน felodipine แล้วทำให้ความดันลดลงตามที่บอกมาแสดงว่ายาให้ประสิทธิผลดี ส่วนการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ตามที่ระบุมาอาจเป็นเพราะมีการใช้ยามานานระยะหนึ่งแล้วเมื่อนับต่อเนื่องจากการใช้ยา Plendil ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลรายงานในฐานข้อมูลทางวิชาการว่ายา felodipine ทำให้เกิดความรู้สึกผิดปกติในการรับรส แต่มีรายงานข้อมูลที่รวบรวมมาจากผู้ใช้ยาระบุถึงผลข้างเคียงของยา felodipine ต่อความรู้สึกถึงรสโลหะในปากได้ประมาณ 0.24% ด้านอาการข้างเคียงของ felodipine ต่อระบบทางเดินอาหารพบว่า felodipine ไม่ได้มีรายงานเรื่องของการทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร แต่อาจเกี่ยงข้องกับอาการไม่สบายท้องหรืออาหารไม่ย่อยได้ประมาณ 0.5-3.9% และ felodipine มีรายงานทำให้เกิดปวดกล้ามเนื้อได้ประมาณ 0.5-1.5% ดังนั้นหากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากยาก็จะเกิดได้แม้ว่าจะใช้ยาแบบ original หรือ local made การปรับยาลดความดันโลหิต โดยทั่วไปสามารถปรับได้หากผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งเกณฑ์ที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดต้องคุมความดันโลหิตให้อยู่ต่ำกว่า 130/80 mmHg ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงอย่างเดียวอาจควบคุมให้ต่ำกว่า 140/90 mmHg จากแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2555 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย แนะนำให้ปรับลดขนาดยาหรือเปลี่ยนชนิดของยาลดความดันโลหิต เมื่อผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยค่อยๆ ลดขนาดยาอย่างช้าๆ และควรต้องติดตามผู้ป่วยรายนั้นๆ ต่อไปเนื่องจากความดันโลหิตอาจสูงขึ้นอีกได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถคงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไว้ได้ Key word: felodipine, side effect

Reference:
1. สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2555.
2. Vetchy D. Comparison in vitro felodipine release rate fromthe original versus generic product with controlled release of the drug. Medicina 2007; 43(4): 326-31.

Keywords:
-





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้