หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณหมอวินิจฉัยว่าหนูเป็นโรคหอบหืดให้ใช้ยา symbicort ประมาณ 1 ปี(ใช้ๆหยุดๆประมาณ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 เดือน)แต่หนูไม่ค่อยได้กลั้วคอ สามเดือนที่แล้วหนูไปส่องกล้องเจอเชื้อราในหลอดอาหาร ทานยาฆ่าเชื้อรา(Fluconazole)ประมาณ 1 อาทิตย์ เลิกใช้ยา symbicort มาประมาณครึ่งปีแล้วคะ 1. เชื้อราในหลอดอาหารอาจเป็นผลมาจากการที่หนูใช้ยา symbicort ได้มั้ยคะ 2. ถ้าใช่ยาฆ่าเชื้อราที่หนูทานครอบคลุมเชื้อราที่บริเวณอื่นที่อาจเกิดจากยาหมดมั้ยคะ 3. หนูเพิ่งอ่านฉลากยาเจอ side effects เยอะมาก แต่ตอนนี้หนูก็สุขภาพปรกติดี หนูควรต้องตรวจอะไรเพิ่มมั้ยคะ แล้วยามันออกจากร่างกายหนูหมดยังคะ ขอโทษนะคะที่ถามเยอะไปหมดเลย ขอบคุณคะ

ถามโดย ส้ม เผยแพร่ตั้งแต่ 03/09/2013-23:23:30 -- 60,373 views
 

คำตอบ

ยา Symbicort เป็นยาสูดพ่นประกอบด้วยตัวยาสำคัญสองตัว ได้แก่ budesonide และ formoterol โดย budesonide เป็นยาสเตียรอยด์ ช่วยลดการอักเสบ และ formoterol เป็นยาในกลุ่ม beta-2 agonist ออกฤทธิ์ยาว ช่วยขยายหลอดลม โดยยาทั้งสองตัวมักใช้ร่วมกันเพื่อควบคุมโรคหืด (asthma) Budesonide ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งใน Symbicort จะไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการลดการอักเสบ จึงทำให้มีโอกาสเกิดเชื้อราในช่องปากและลำคอได้ จึงแนะนำให้บ้วนปากกลั้วคอทุกครั้งหลังพ่นยา ตามปกติเชื้อราที่เกิดการใช้ยาพ่น มักเกิดเฉพาะที่ (ปากและลำคอ) เนื่องจากยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อยมากหากใช้อย่างถูกวิธี การเกิดอาการข้างเคียงทั่วร่างกายมักเกิดเฉพาะในกรณีที่ใช้ยาในขนาดสูงๆ เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามหากเกิดเชื้อราที่บริเวณอื่นของร่างกาย สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อรารักษาได้เช่นกัน แต่เวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและบริเวณที่เป็น ค่าครึ่งชีวิตของ budesonide คือประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วน formoterol คือประมาณ 10 ชั่วโมง ในผู้ที่มีการทำงานของตับและไตปกติ จะใช้เวลาในการขับยาออกจากร่างกายทั้งหมด ประมาณ 4-5 เท่าของค่าครึ่งชีวิต ดังนั้นเวลาที่ Symbicort ถูกขับออกทั้งหมด จะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน ในกรณีนี้ได้หยุดใช้ยามาครึ่งปีแล้ว ในตอนนี้จึงไม่น่ามียาหลงเหลืออยู่ในร่างกายแล้ว ในประเด็นที่กังวลว่าเชื้อราที่เกิดในช่องปากจะยังอยู่และไปก่อโรคที่อื่นหรือไม่นั้น ขอให้ไม่ต้องกังวลในจุดนี้ เพราะเชื้อราปกติจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่ก่อโรคอยู่แล้ว เว้นแต่ในบางกรณีเช่นใช้ยาที่มีผลกดการทำงานของภูมิคุ้มกันแล้วไม่ระวังการติดเชื้อฉวยโอกาสนั่นเอง ผู้ป่วยโรคหืดควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหืดได้) พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหืด เช่น สารก่อภูมิแพ้ มลภาวะในอากาศ ความเครียด หรือ การเป็นไข้หวัด เป็นต้น หากมีอาการหืดขึ้นอีก ให้กลับไปพบแพทย์ และใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรใช้ๆ หยุดๆ เพราะจะทำให้ควบคุมอาการได้ไม่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว Key words: asthma, Symbicort, budesonide, formoterol, fungal infection, pharmacokinetic, โรคหืด, ติดเชื้อรา, เภสัชจลนศาสตร์

Reference:
Symbicort [Database on the internet]: Drug information online Drugs.com [cited 12 September 2013]. Available from: http://www.drugs.com/pro/symbicort.html

Keywords:
-





ทางเดินหายใจและหูตาคอจมูก ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้