หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วิตามินเพิ่มความสูงที่ขายกันตามเน็ต มีจริงมั้ย แล้วที่บอกว่าอายูเยอะๆ กินแล้วมี่โอกาสสูงเพิ่มจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างตอนนี้ดิฉันอายุ29จะมีโอกาศสูงขึ้นอีกมั้ย ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างค่ะ

ถามโดย วิมล เผยแพร่ตั้งแต่ 21/08/2013-00:37:20 -- 14,921 views
 

คำตอบ

ความสูงของคนเราถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสุขภาพของตัวบุคคล ในมนุษย์มีช่วงที่ความสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 2 ขวบ และอีกช่วงหนึ่งคือช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ในเด็กหญิงอายุประมาณ 11-12 ปี เด็กชายอายุประมาณ 13-14 ปี จากนั้น อัตราการเพิ่มความสูงจะช้าลงเรื่อยๆ จนกระทั่งแผ่นปิดปลายกระดูก (epiphyseal plate) ปิด คือในช่วงอายุประมาณ 15-16 ปี ในเพศหญิง และ 18-20 ปี ในเพศชาย หลังจากแผ่นปิดปลายกระดูกปิดแล้วความสูงแทบจะไม่เพิ่มขึ้นอีก ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิตามินใดที่ได้รับการรับรองถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสามารถช่วยเพิ่มความสูงในผู้ใหญ่ได้ หากพิจารณาตามทฤษฎีแล้ว ไม่น่าจะมียาหรืออาหารเสริมใดสามารถเพิ่มความสูงในผู้ใหญ่ที่หยุดสูงแล้วได้ การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ใหญ่ที่หยุดสูงแล้ว ควรคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้กระดูกเสื่อมสภาพ ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในเพศหญิง เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะมีอัตราการสลายตัวของกระดูกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสูงลดลงในวัยชราด้วย ดังนั้นการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมอาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุนในวัยชราได้ โดยควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็ก นมสด โยเกิร์ต ผักใบเขียว และ งาดำ เป็นต้น หากไม่สามารถรับประทานได้อย่างพอเพียง อาจรับประทานแคลเซียมเสริม 1000-1500 mg ต่อวัน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป Key words: human height, bone development, bone growth, osteoporosis, ความสูง, การเจริญของกระดูก, กระดูกพรุน

Reference:
Bone Development and Structure [Online: http://www.nsbri.org/humanphysspace/focus6/ep_development.html] cited on September 3, 2013.
New Recommended Daily Amounts of Calcium and Vitamin D, NIH Medline Plus [Online: http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/magazine/issues/winter11/articles/winter11pg12.html] cited on September 3, 2013.

Keywords:
-





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้