หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สวัสดีค่ะ รบกวนสอบถาม หนูป่วยเป้นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้เป็นทางกรรมพันธุ์ และไม่ดื่มสุรา สูบบุรี่ ปัจจุบันอายุ 30 ปี เจาะDTXผล 89mg/dl BP95/60 mmHg ไม่มีโรคอย่างอื่น ทุกครั้งที่ปวดท้อง ค่าAmylase จะขึ้น 3000-4000 เกือบทุกครั้ง แพทย์สั่ง เพททิดี มอฟีน เข้า IV แล้วแต่ขนาดความเจ็บปวด 1ปี จะเกิดอาการเฉลี่ย 4-5ครั้ง เป็นอย่างนี้มา10 กว่าปีแล้ว หนูอยากทราบว่าเมื่อมียากลุ่มนี้สะสมในร่างกายจะเกิดผลกระทบอะไรกับสุขภาพของหนูบ้าง ขอบพระคุณค่ะ

ถามโดย ติ๊ก เผยแพร่ตั้งแต่ 16/08/2013-11:30:46 -- 7,084 views
 

คำตอบ

ยา pethidine และ morphine เป็นยาระงับปวดกลุ่ม opioid โดยปกติแล้วยา pethidine และ morphine จะสะสมอยู่ในร่างกายหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ ขนาดยา ระยะเวลาที่ได้รับยา อายุ การทำงานของตับและการทำงานของไต โดยยาทั้ง 2 ชนิดสามารถถูกแปรรูปที่ตับได้ morphine ถูกแปรรูปที่ตับได้เป็น morphine-3-glucoronide ซึ่งไม่มีฤทธิ์ และ morphine-6-glucoronide ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่า morphine ส่วน pethidine ผ่านกระบวนแปรรูปที่ตับได้เป็น norpethidine ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและสามารถกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางได้ ซึ่งสารที่ได้ผ่านการแปรรูปที่ตับของยาทั้ง 2 ชนิดจะถูกขับออกทางไตเป็นหลัก และตัว morphine เอง 5-10% ก็ขับทางไตในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน หากการทำงานของตับและไตปกติและไม่ได้ใช้ยาต่อเนื่องกันยาวนาน หรือใช้เฉพาะช่วงที่มีอาการเท่านั้น ยาก็มีโอกาสสะสมในร่างกายได้น้อย แต่หากการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ หรือทำงานได้น้อยลง ก็อาจทำให้เกิดการกำจัดยา pethidine และ morphine ออกจากร่างกายได้ช้ากว่าปกติ ซึ่งในช่วงที่ยาถูกกำจัดยังไม่หมดนั้นก็อาจจะทำให้เกิดการแสดงอาการข้างเคียงได้ เช่น กรณี morphine อาจทำให้ยามีฤทธิ์นานขึ้น และอาจทำให้เกิดการกดการหายใจได้ กรณียา pethidine หากมีการสะสมของ norpethidine อาจทำให้เกิดการชักได้ และอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อยาถูกขับออกจากร่างกายไปแล้ว ในกรณีผู้ป่วยที่มีการปวดเรื้อรัง เช่นผู้ป่วยมะเร็ง และจำเป็นต้องได้รับยากลุ่ม opioid ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจจำเป็นต้องระวังเรื่องการเกิดการดื้อยา เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวทำให้จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลระงับปวดเท่าเดิม หรือเกิดการเสพติดยา ในกรณีของผู้ป่วยเป็นการใช้ยาแบบชั่วคราวตามความจำเป็น อีกทั้งมีการทำงานของตับและไตปกติและใช้ยาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการสะสมของยาในร่างกาย เนื่องจากโดยปกติยาจะถูกร่างกายกำจัดออกทางตับและไตอยู่แล้ว Key words: morphine, pethidine, pancreatitis, pain, side effect, มอร์ฟีน, เพบติดีน, ปวด, ตับอ่อนอักเสบ, อาการข้างเคียง

Reference:
1. ศศิกานต์ นิมมานรัชต์. ตำราความปวดและการระงับปวดในเวชปฎิบัติ. สงขลา: ชานเมืองการพิมพ์, 2553.

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร ระบบประสาท

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้