หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Lomotilเป็นยามที่จ่ายในร้านยาไม่ได้ใช่หรือเปล่าคะ จะสามารถใช้ในกรณีใดได้บ้างคะ

ถามโดย ออม เผยแพร่ตั้งแต่ 09/05/2011-10:13:15 -- 65,067 views
 

คำตอบ

Lomotil จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 3 (หมายถึง เป็นยาสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นตามทะเบียนตำรับ ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข มีจำหน่ายตามร้านขายยา ได้แก่ ยาแก้ไอที่มีตัวยาโคเดอีน หรือยาแก้ท้องเสียที่มีตัวยาไดเฟนอกซิน มีประโยชน์ทางการแพทย์มีโทษน้อยกว่ายาเสพติดให้โทษประเภทอื่น) (Ref 1. ) มาตรา 31 ให้ผู้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่กำหนดแสดงว่าเป็นสถานที่จำหน่ายยาเสพติด ให้โทษในประเภท 3 ลักษณะและขนาดของป้ายและข้อความที่แสดงในป้ายให้เห็นไปตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง (2) จัดให้มีการแยกเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เป็นสัดส่วนจากยาหรือวัตถุอื่น (3) ดูแลให้มีฉลาก เอกสารกำกับ คำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ยาเสพติดให้โทษใน ประเภท 3 ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 มิให้ชำรุดบกพร่อง (Ref 2. ) สรุปว่าการ จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ในร้านยาสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่ทั้งนี้ร้านยานั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตจำหน่ายเสียก่อนค่ะ Lomotil เป็นยาที่มีส่วนประกอบของ diphenoxylate hydrochloride 2.5 mg ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของฝิ่นอันมีผลต่อระบบประสาท สามารถทำให้เสพติดได้เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และ atropine sulfate 0.025 mg ซึ่งเป็นยายับยั้งการหดเกร็งของทางเดินลำไส้ ยาชนิดนี้ใช้บรรเทาท้องร่วงเฉียบพลันที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ (ไม่ใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี, ผู้ป่วยท้องเสียร่วมกับมีไข้, และผู้ป่วยโรคตับ) เนื่องจากการยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้เป็นผลเสียต่อผู้ป่วยที่เป็นบิด หรือท้องร่วงที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย อาหารเป็นพิษ ท้องร่วงจากสารพิษของแบคทีเรีย รวมถึงท้องร่วงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หากทานยาติดต่อกันนานอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง เเละเสี่ยงต่อการที่เชื้อจะกระจายเข้ากระแสเลือด (Ref 3-4. ) อย่างไรก็ตามยานี้สามารถใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรค Irritable bowel syndrome แบบที่มีอาการท้องเสียเด่น แต่ในทางปฏิบัติยาที่นิยมมากกว่าคือตัวยา Loperamide (Imodium®) เพราะเป็นยาที่ไม่ผ่าน blood brain barrier และไม่มี atropine จึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงด้าน bladder dysfunction, tachycardia เป็นต้น นอกจากนี้อาจใช้ยากลุ่มนี้ เพื่อลดการกระตุ้นลำไส้จากสาเหตุต่างๆเช่น การออกกำลังกาย ความตื่นเต้นเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน เป็นต้น (Ref 5. )

Reference:
1. http://www.party008.ob.tc/04.html

2. http://www.kodmhai.com/m4/m4-14/H14/2522.html#30

3. คณะกรรมการพัฒนายาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เล่ม 1 ระบบทางเดินอาหาร. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์เกษตรแห่งประเทศไทย 2552 p.35

4. ศรีสมบัติ นวนพรัตน์สกุล. เภสัชบำบัด ยาที่ใช้ในโรคของระบบทางเดินอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 3 เพชรเกษมการพิมพ์ นครปฐม 2549 p.82

5. ฐนิสา พัชรตระกูล ใน สุเทพ กลชาญวิทย์, ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ บรรณาธิการ Management of irritable bowel syndrome. โรคทางเดินอาหารและการรักษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ 2547 p.45

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้