หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่เป็นไตรแคลเซียมฟอสเฟต ดีกว่าที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไรคะ ราคาถึงแตกต่างกันมาก และควรกินร่วมกับอาหารอะไร จึงจะดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น

ถามโดย TAMA เผยแพร่ตั้งแต่ 07/10/2010-17:53:33 -- 20,690 views
 

คำตอบ

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบของกระดูก ฟัน และมีบทบาทในกระบวนการต่างๆของร่างกาย ในแต่วัยจะมีความต้องการปริมาณแคลเซียมที่แตกต่างกัน โดยประเทศไทยได้กำหนดปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes– Thai RDI)เท่ากับ 800 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณนี้สามารถป้องกันภาวะขาดแคลเซียมได้ แคลเซียมฟอสเฟตและแคลเซียมคาร์บอเนต เป็นแคลเซียมในรูปเกลือ ซึ่งเกลือแคลเซียมเหล่านี้จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้นั้น ต้องผ่านการแตกตัวให้เป็นแคลเซียมอิสระเสียก่อน ดังนั้น ในการพิจารณาเลือกรับประทานแคลเซียมในรูปแบบเกลือนั้น มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ดังนี้ ปริมาณแคลเซียมอิสระ ในท้องตลาดมีรูปแบบเกลือหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะให้ปริมาณแคลเซียมอิสระไม่เท่ากัน ดังยกตัวอย่างในตาราง ซึ่งจะเห็นได้ว่า Calcium carbonate ให้ประมาณแคลเซียมอิสระมากที่สุด เกลือแคลเซียม แคลเซียมอิสระ(%) Calcium carbonate 39.97 Calcium gluconate 8.92 Calcium citrate 21.03 Trialcium phosphate 38.71 การแตกตัวของเม็ดยา เป็นการปลดปล่อยของตัวยาจากผลิตภัณฑ์ หรือการแตกตัวของยา เม็ดยาที่แตกตัวได้ดีจะปลดปล่อยตัวยาได้สูง ในขณะที่เม็ดยาบางชนิดแข็ง จึงปลดปล่อยตัวยาได้น้อยลง การละลายของเกลือแคลเซียม การละลายของเกลือแคลเซียมนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะกรดในกระเพาะอาหารเนื่องจาก เกลือแคลเซียมสามารถละลายได้ดีในกรด ดังนั้น จึงควรเลือกรับประทานช่วงที่มีการหลั่งของกรดมากที่สุด คือ ช่วงที่รับประทานอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง อาหารกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรด จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้เมื่อมีอาหารในกระเพาะ ยังส่งผลทำให้แคลเซียมถูกกักอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น ทำให้แคลเซียมละลายและแตกตัวเป็นแคลเซียมอิสระได้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้สูงอายุ ภาวะกรดในกระเพาะอาหารลดลง จึงควรรับประทานแคลเซียมรูปแบบเม็ดฟู่เนื่องจากมีส่วนผสมของ citric acid ผสมอยู่เพื่อทำให้เกิดการละลาย แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรับประทานพร้อมอาหาร เนื่องจากต้องอาศัยกรดในแตกตัวของแคลเซียมเป็นแคลเซียมอิสระ วิตามินดี วิตามินดีมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงมักไม่มีปัญหาจากการขาดวิตามินดี แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีการทำงานของตับและไตลดลง ทำให้ปริมาณวิตามินดีในรูปใช้งานได้ลดลง จึงอาจส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมได้ คำแนะนำสำหรับผู้ที่รับประทานแคลเซียม 1. เคี้ยวให้ละเอียดหรือบดให้ละเอียด 2. ให้รับประทานพร้อมอาหาร โดยรับประทานอาหารครึ่งท้องแล้วเคี้ยวแคลเซียม แล้วจึงรับประทานอาหารต่อ เกลือแคลเซียมมีหลากหลายรูปแบบในท้องตลาด ซึ่งราคาแต่ละบริษัทต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากมีการปรุงแต่งเพื่อให้มีการแตกตัวได้ง่าย ละลายได้ดี รสชาติดีขึ้นค่ะ

Reference:
1. เสก อักษรานุเคราะห์, (2551). ยาแคลเซียม. ใน ประชุมวิชาการ Bone forum 2008. (ศ.เกียรติคุณ น.พ. ณรงค์ บุณยะรัตเวช, บรรณาธิการ). หน้า 201-210. บริษัท คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด, กรุงเทพฯ.

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้