หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลา แตกต่างกันอย่างไร เเละให้ประโยชน์อย่างไรบ้างค่ะ

ถามโดย กิ๊ก เผยแพร่ตั้งแต่ 16/04/2010-13:13:20 -- 66,958 views
 

คำตอบ

น้ำมันปลา (fish) และน้ำมันตับปลา (cod liver oil) มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิด omega-3 (ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสร้างเองได้) ได้แก่ Decosahexanoic acid (DHA) และ Eicosapentanoic acid (EPA) แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ น้ำมันตับปลาจะมี วิตามิน A และ D เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ในขณะที่น้ำมันปลาจะไม่มีวิตามินทั้งสองชนิดเป็นส่วนประกอบ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำพวกน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลานั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคมักต้องการประโยชน์จากสาร omega-3 คือ EPA และ DHA เป็นหลัก ซึ่งประโยชน์จากการรับประทานสารจำพวก omega-3 ที่พบว่ามีการศึกษาในมนุษย์ยืนยันประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ได้แก่ - การลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในกระแสเลือด - การลดระดับความดันโลหิต - การป้องกันความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดหัวใจ - การลดการปวดข้อและข้ออักเสบรูมาตอยด์ องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขของหลายๆ ประเทศได้แนะนำขนาดการรับประทาน EPA + DHA ไว้ คือ วันละ 300-500 มิลลิกรัม สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี ที่ไม่มีประวัติการเป็นโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ส่วนขนาดการรับประทานสำหรับเด็กเล็กนั้นยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนระบุไว้ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา ได้แก่ - มีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสาร omega-3 ในน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลามีคุณสมบัติในการต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดและทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงได้ ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังการรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มสุรามากๆ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรือ วอร์ฟาริน (warfarin) เป็นต้น เพราะจะยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานน้ำมันปลาก่อนถึงวันผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน และควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้ทราบว่าตนเองรับประทานน้ำมันปลา หรือน้ำมันตับปลาอยู่ด้วย - คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับขนาดของการรับประทานน้ำมันปลา วิธีแก้ไข คือ รับประทานหลังอาหารทันทีและเริ่มรับประทานน้ำมันปลาในขนาดต่ำๆ ก่อน - ความดันโลหิตต่ำลง ดังนั้นต้องระมัดระวังในการรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ หรือ ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ เนื่องจากอาจเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ (hypotension) ได้ - ระดับไขมันชนิด LDL (ไขมันชนิดไม่ดี) ในกระแสเลือดอาจเพิ่มขึ้น - ผู้ที่รับประทานน้ำมันตับปลาในปริมาณมากๆ อาจเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากวิตามิน A และ D ได้ จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลานั้นแม้ว่าจะมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน แต่ก็มีข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจอีกหลายๆ ด้านเช่นกัน ดังนั้นการศึกษาข้อมูลก่อนที่จะรับประทานจึงเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงจากอาหารเสริมได้ดีที่สุดครับ

Reference:
1. Omega-3 fatty acids, fish oil, alpha-linolenic acid [Online]. 2009 Aug 26 [cited 2010 Apr 26]. Available from: URL: http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/natural/patient-fishoil.html.

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้