หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ถ้าต้องการให้มีผิวขาว ดูสุขภาพดี และมีเลือดฝาด โดยเฉพาะใบหน้า มียา หรือ สมุนไพร หรือวิธีการอย่างไรบ้างครับ

ถามโดย ธีรเดช เผยแพร่ตั้งแต่ 24/04/2009-18:54:52 -- 2,443 views
 

คำตอบ

วิธีการดูแลผิวพรรณให้ดูสุขภาพดีมีหลายวิธี ตั้งแต่การบริโภค ควรบริโภคผักและผลไม้สดเป็นประจำเนื่องจากมีวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณมาก นอกจากนั้นยังควรดื่มน้ำสะอาดวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร) รวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งการทำจิตใจให้ผ่องใสและการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพื่อไม่ให้ทำอันตรายต่อผิว ดังนั้นจึงขอนำข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่เขียนโดยแพทย์จากสมาคมผิวหนังแห่งประเทศไทยมาให้คุณลองนำข้อมูลนี้ไปใช้ค่ะ ผิวขาว อย่างมหัศจรรย์ ? เนื่องมาจากในแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) โดยประกอบด้วยรังสี UV - A และ UV - B ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกันที่ปริมาณแล้วรังสี UV - A จะมีปริมาณสุงกว่ารังสี UV - B หลายเท่าตัว แต่รังสี UV - B จะมีผลต่อผิวหนังมากกว่ารังสี UV - A คือจะทำให้เกิดอาการไหม้แดด กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างสี และเมื่อมีการสะสมมากๆจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ในส่วนของประเทศไทยเองซึ่งตั้งอยู่ในเขตร้อนมีแสงแดดสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ทำให้ได้รับอิทธิพลจากรังสี UV อย่างเต็มที่เป็นผลให้คนไทยมีผิวค่อนข้างคล้ำแดด แต่คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงปรารถนาที่จะมีผิวขาวเนียน ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวขาวจึงเข้ามามีบทบาทแพร่หลายค่อนข้างมากและมีให้เลือกใช้หลากหลายชนิดด้วยกัน ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบันนี้ อาจจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์ได้ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์แป้ง เมื่อทาผิวจะขาวทันทีเพราะแป้งจะสะท้อนแสง แต่ไม่นิยมใช้เพราะเมื่อทาแล้วหน้าจะขาวโพลนดูไม่เป็นธรรมชาติ 2. การผสมสารกันแดดชนิดแสงลงในแป้ง เช่น titanium dioxide และ zineoxide ซึ่งเป็นสารกันแดดชนิดทึบแสง เมื่อทำการบดผงละเอียดจะทำให้ความทึบแสงลดลง ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการสะท้อนแสงได้ดีขึ้น จึงนิยมนำไปผสมในผลิตภัณฑ์สำหรับผิวขาว ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยแล้ว เมื่อทาก็จะทำให้ผิวขาวทันทีแต่จะมีข้อเสียตรงที่ถ้าใช้ในปริมาณสูงเกินไป ผิวก็จะขาวเกินไปด้วย และจะขาวมากขึ้นเมื่อใช้ในระยะยาวเพราะสารกันแดดชนิดทึบแสงนี้จะลดปริมาณแสงอัลตราไวโอแลตที่จะเข้าไปในเซลล์ทำให้การทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีลดลง 3. การผสมสารกันแดดชนิดโปร่งใสในครีมทาผิวหน้า เช่น PABA, cinnamate,oxybenzone, salicylate ฯลฯ สารเหล่านี้จะดูดซับแสงไว้ไม่ให้ผ่านเข้าไปกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี ทำให้สีผิวขาวขึ้นหลังใช้ผลิตภัณฑ์นี้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ สารกันแดดแบบโปร่งใสนิยมผสมในครีมทาผิวทุกชนิด เพราะไม่ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของครีมเปลี่ยนไป และประสิทธิภาพของครีมนอกจากลดสีผิวได้แล้วยังช่วยลดการเสื่อมของผิวจากแสงอัลตราไวโอเลตได้ จึงนิยมโฆษณาครีมทาผิวชนิดนี้ว่ามีสารป้องกันริ้วรอย 4. สารเร่งการหลุดลอกของผิวหนัง เช่น สาร alpha hydroxy acid (AHA) ซึ่งเป็นกรดผลไม้ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น มะนาว ส้ม กากน้ำตาลทรายแดง แอปเปิ้ล นมเปรี้ยว ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้มักนิยมนำมาผสมในครีมทาผิว โดยหวังผลว่าเมื่อผิวคล้ำหลุดลอกออก ผิวใหม่ซึ่งขาวกว่าจะขึ้นมาทดแทนผิวเดิม ทั้งนี้ยังเป็นข้อถกเถียงถึงประสิทธิภาพว่าลดสีผิวได้จริงหรือไม่ แต่ข้อดีของกรดผลไม้ที่เชื่อถือได้คือการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง 5. วิตามินซี หรือวิตามินอี ที่ผสมในครีมทาผิวที่วางจำหน่ายในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพที่แน่ว่ามีประสิทธิภาพในการทำลายอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวอันตรายที่ทำลายเซลล์ผิวหนังและเซลล์เม็ดสี 6. กรดวิตามิน เอ จะช่วยเร่งการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังและอาจลดการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสี แต่สารนี้ไม่อนุญาตให้ผสมในเครื่องสำอางทั่วไป เพราะจะทำให้ระคายผิว 7. Hydroquinone และสารปรอท เป็นตัวยาหลีกในการรักษาฝ้าที่สามารถลดการทำงานของเอนไซม์tyrosinase แต่กระทรวงสาธารณสุข ไม่อนุญาตให้ผสมในเครื่องสำอาง ดังนั้นในการผลิตเครื่องสำอางจึงได้นำสาร kojic acid, licorice, extract ฯลฯ มาใช้ ซึ่งมีคุณสมบัติลดการทำงานของเอนไซม์เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพที่ได้ยังไม่แน่ชัดเพราะยังไม่มีการพิสูจน์ในผิวของคน หากจะว่าไปแล้ว ครีมทาผิวขาวที่ดีที่สุดก็คือการหลบเลียงแสงแดดและหากต้องการใช้ครีมทาผิวขาวก็เลือกใช้เป็นชนิดที่มีส่วนผสมของสารกันแดดก็เพียงพอแล้ว ผู้เขียน :: รศ.พญ. พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน 2004-11-17

Reference:
http://www.dst.or.th/public1.php?id=13&tt=9

Keywords:
-





ผิวหนังและเครื่องสำอาง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้