หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มีอาการผื่นแดงคันทั้งตัวและหน้าบวม ร่วมกับมีอาการหายใจหอบเหนื่อย มีอาการหลังจากโดนผึ้งต่อย 15 นาที จึงมาห้องฉุกเฉินแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการ anaphylaxis สั่งใช้ยา adrenaline ฉีดที่หน้าขาและ chlorpheniramine และ dexamethasone ฉีดเข้าหลอดเลือดดำอยากทราบกลไกการทำงานของยาทั้ง3ตัวครับ

ถามโดย สถิตย์พันธ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 01/06/2024-17:34:44 -- 690 views
 

คำตอบ

การแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ สามารถแบ่งได้ 4 ชนิดตามกลไกการเกิดโรค แต่ชนิดที่พบบ่อย คือ ชนิด immunoglobulin E (IgE)-dependent ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากอาหาร ยา หรือแมลง โดยเกิดจากสารก่อการแพ้ (allergens) ไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T-cells และเกิดการส่งสัญญาณไปยัง B-cells ให้ผลิตแอนติบอดีชนิด IgE ซึ่งจะไปจับกับ mast cells และ basophils ส่งผลให้เกิดการหลั่งสาร histamines และ mediators อื่น ๆ เช่น prostaglandins, cytokines เป็นต้น ทำให้เกิดการรั่วของสารน้ำจากหลอดเลือด (vascular permeability) หลอดเลือดขยายตัว (vasodilation) และหลอดลมหดตัว (bronchoconstriction) โดย adrenaline (epinephrine), chlorpheniramine และ dexamethasone เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะ anaphylaxis โดยมีกลไกดังนี้ 1) adrenaline เป็นยาที่สำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยภาวะ anaphylaxis ออกฤทธิ์โดยจับกับ alpha-1, beta-1, และ beta-2 adrenergic receptors ทำให้หลอดเลือดหดตัว (vasoconstriction) ลดการรั่วของสารน้ำจากหลอดเลือด และหลอดลมคลายตัว (bronchodilation) รวมถึงยับยั้งการหลั่ง mediators จาก mast cells และ basophils 2) chlorpheniramine เป็นยากลุ่ม antihistamine ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของ histamines จากการจับกับ histamine H1-receptor มีผลช่วยลดอาการผื่นคัน บวมแดง และทำให้หลอดลมคลายตัว และ 3) dexamethasone เป็นยากลุ่ม corticosteroids ซึ่งแม้จะยังไม่มีการศึกษาแบบ randomized-controlled trials เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาภาวะการแพ้ชนิดรุนแรง แต่เป็นหนึ่งในยาหลักที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ คาดว่ามีกลไกในการลดการกระตุ้น mast cells รวมถึงลดการผลิตสารเหนี่ยวนำการอักเสบ เช่น cytokines เป็นต้น

Reference:
1. คณะทำงานเพื่อการรักษาและป้องกันการแพ้ชนิดรุนแรงแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีการแพ้ชนิดรุนแรง พ.ศ. 2560 [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.allergy.or.th/2016/pdf/Thai_CPG_Anaphylaxis_2017_Full_version.pdf#page=11.00
2. Micromedex. Chlorpheniramine [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 30]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com
3. Liyanage CK, Galappatthy P, Seneviratne SL. Corticosteroids in management of anaphylaxis; a systematic review of evidence. Eur Ann Allergy Clin Immunol. 2017 Sep 1;49(5):196-207.

Keywords:
anaphylaxis, adrenaline, chlorpheniramine, dexamethasone





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้