หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Preventing oral mucositis in cancer treatment

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2552 -- อ่านแล้ว 3,490 ครั้ง
 
โดยปกติการรักษาด้วยเคมีบำบัด (chemotherapy) หรือการฉายรังสี (radiation) สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดเยื่อบุในช่องปากอักเสบ(oral mucositis; OM) ซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย รวมถึงอาจทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเสียไปได้ และหากผู้ป่วยเกิด OM รุนแรงก็อาจส่งผลทำให้ต้องหยุดการรักษาไปในที่สุด ซึ่งวิธีการรักษาหรือการป้องกันการเกิด OM ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ดังนั้นจึงมีผู้ทำการทดลองโดยนำ recombinant human ITF (rhITF)** แบบ spray มาศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันการถูกทำลายของเยื่อบุช่องปากรวมถึงประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเยื่อบุที่เสียหายไป

การศึกษาดังกล่าวเป็นการทดลองใน phase ที่ 3 ในผู้ป่วย colorectal cancer ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิด OM จากการได้รับเคมีบำบัด ทั้งหมด 99 ราย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดเคยมีประวัติการเป็น OM ในระดับที่ 2 ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO grade 2 OM) จากการทำเคมีบำบัดใน cycle แรก และอาการทั้งหมดหายดีแล้วก่อนการทำเคมีบำบัดใน cycle ที่ 2 ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการสุ่มให้ได้รับ 1 ใน 3 วิธีการรักษา ได้แก่ สเปรย์ที่มีส่วนประกอบของยาหลอก สเปรย์ที่มีส่วนประกอบของ rhITF ในขนาดต่ำ หรือสเปรย์ที่มีส่วนประกอบของ rhITF ในขนาดสูง โดยผู้ป่วยต้องใช้สเปรย์ที่ได้รับวันละ 8 ครั้ง ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันแรกของการทำเคมีบำบัด cycle ที่ 2 และจะถูกประเมินการเกิด OM ที่มีระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ในระหว่างที่ได้รับเคมีบำบัดใน cycle ที่ 2

ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เกิด OM ระดับ 2 มีอยู่ทั้งหมด 48.5% , 9.1% และ 9.1% สำหรับผู้ป่วยกลุ่มยาหลอก กลุ่ม rhITFขนาดต่ำ และกลุ่ม rhITF ขนาดสูง ตามลำดับ และสัดส่วนของผู้ป่วยที่ไม่เกิด OM เลย คือ 33.3%, 60.6% และ69.7% ตามลำดับข้างต้นเช่นกัน อย่างไรก็ดียังพบผู้ป่วย ที่เกิด OM ในระดับ 3 จากการใช้สเปรย์ rhITF ขนาดสูงอยู่ 1 ราย ส่วนในเรื่องของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นไม่พบความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม

จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ rhITF ในการป้องกันการเกิด OM ที่น่าสนใจ ดังนั้นจึงควรมีการทำการศึกษาทั้งในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดและอาจรวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย stem cell ด้วย เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของ rhITF ในการป้องกันการเกิด OM เพิ่มเติมต่อไป



** Intestinal trefoil factor (ITF) เป็น peptide ที่สร้างโดยต่อมที่มีการหลั่ง mucin ทำหน้าที่ในการปกป้องและซ่อมแซมเยื่อบุทางเดินอาหาร



 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้