การรักษาผู้ป่วย HIV ในระยะเริ่มต้นด้วยการให้ Antiretroviral Therapy ช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงข
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน เมษายน ปี 2552 -- อ่านแล้ว 2,814 ครั้ง
รายงานผลการวิจัยเชิงสำรวจโดย Kitahata และคณะ (the North American AIDS Cohort Collaboration on Research and Design – NA-ACCORD) พบว่า การให้ยา antiretroviral therapy แก่ผู้ป่วย HIV ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่ยังไม่ปรากฏอาการ (early therapy) ช่วยให้โอกาสรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการยืดระยะเวลาในการให้ยา (deferring therapy หรือการรอจนกว่า CD4+ ของผู้ป่วยลดต่ำลงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด) อย่างไรก็ตาม การให้รักษายังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการให้ antiretroviral therapy ช่วยชะลอการดำเนินโรคและลดอัตราการตายในผู้ป่วย HIV ลงได้อย่างชัดเจน แนวทางการรักษาโดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ปรากฏอาการ (asymptomatic patients) แนะนำให้เริ่มต้นการรักษาเมื่อ CD4+ count น้อยกว่า 350 cells/mm3 ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาที่ระบุได้แน่ชัดถึงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นให้ยาดังกล่าว แต่หลักฐานในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยยังคงตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและระบบภูมิคุ้มกันก็ยังทำหน้าที่ได้ดี ดังนั้น การให้ antiretroviral therapy ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจึงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และช่วยให้ผลการรักษาในระยะยาวดีกว่า
การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นให้ antiretroviral therapy (ประกอบด้วยยาต้านไวรัส อย่างน้อย 3 ตัวขึ้นไป : a protease inhibitor, a nonnucleoside reverse-transcriptase inhibitor, หรือ 3 nucleoside reverse-transcriptase inhibitors including abacavir or tenofovir) โดยทำการศึกษาในผู้ป่วย HIV ที่ยังไม่ปรากฏอาการและไม่เคยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสใดๆ มาก่อน จำนวนรวมทั้งสิ้น 17,517 ราย จากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งได้รับการรักษาช่วงระหว่าง มกราคม 1996 – ธันวาคม 2005 ผู้ป่วยเหล่านี้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่โดยใช้เกณฑ์ CD4+ count ณ จุดเริ่มต้น ก่อนที่จะได้รับ antiretroviral therapy ในแต่ละกลุ่ม ผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ขึ้นอยู่กับการได้รับยาว่าเป็นแบบใดระหว่าง early-therapy group หรือ deferred-therapy group
จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย multivariate Cox proportional-harzards models และ inverse-probability weighting พบว่า ผู้ป่วยที่มี CD4+ count อยู่ระหว่าง 351-500 cells/mm3 (8,362 ราย) ในกลุ่ม deferred therapy มีอัตราการตายสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับผู้ป่วยในกลุ่ม early therapy (relative risk [RR] 1.69; 95% CI 1.26–2.26; P<.001) ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมี CD4+ count มากกว่า 500 cells/mm3 (9,155 ราย) ในกลุ่ม deferred therapy มีอัตราการตายสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับกลุ่ม early therapy (relative risk [RR] 1.94; 95% CI 1.37–2.79; P<.001) อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุที่แน่ชัด มีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่ทราบสาเหตุ โดยพบว่านอกเหนือจาก AIDs-defining conditions สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเกิดจาก hepatic, renal, และ cardiovascular diseases รวมถึง non-AIDS-defining cancers