Metformin update
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ธันวาคม ปี 2546 -- อ่านแล้ว 77,454 ครั้ง
Metformin, antihyperglycemic agent กลุ่ม biguanide หรือ “insulin sensitizer” มีประสิทธิภาพลดน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลไกหลักในการออกฤทธิ์ของ metformin นั้นไปลดการสร้างน้ำตาลที่ตับ (hepatic gluconeogenesis) ซึ่งลดปริมาณการสร้างน้ำตาลลงประมาณร้อยละ 25 ถึง 30 ของการสร้างน้ำตาลในร่างกายทั้งหมด ลดทั้ง fasting plasma และ postprandial glucose นอกจากนี้ metformin ยังลดระดับ free fatty acid ในพลาสมาได้ร้อยละ 10 ถึง 30 และช่วยเพิ่ม peripheral insulin sensitivity รวมทั้งลดการดูดซึมของ glucose ที่ลำไส้
นอกจากฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด metformin ยังมีฤทธิ์ต่อ cardiovascular system โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤทธิ์ที่ทำให้น้ำหนักตัวลดมีแนวโน้มเป็นผลดีต่อ macrovascular outcome ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
metformin ถูกนำมาใช้รักษาโรคเบาหวานในเด็กที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้จากการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันได้แก่ การออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร เป็นต้น รวมทั้งการป้องกัน น้ำหนักตัวเพิ่มซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาจิตเวชบางตัวเช่น valpoic acid และ risperidone แม้ว่าการใช้ metformin ในกรณีดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก US FDA ก็ตาม นอกจากนี้ metformin ยังอาจนำมาใช้ป้องกันโรคเบาหวานสำหรับผู้ที่ไม่ใช่วัยสูงอายุมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (overweight) และระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่มาก
กรณีอื่น ๆ ที่มีการใช้ metformin ได้แก่ ในผู้หญิงที่มีภาวะ polycystic ovarian syndrome (POS) เพื่อ ลดอัตราการแท้งและเพิ่มการทำงานของรังไข่ให้ดีขึ้น, ในผู้ป่วย nonalcoholic steatohepatitis (NASH) เพื่อลดอาการตับโตและ abnormalized liver enzyme function รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะ HIV-associated metabolic abnormalities เป็นต้น ภาวะดังกล่าวข้างต้นอาจมีสาเหตุหนึ่งมาจาก insulin resistance syndrome ดังนั้นการใช้ metformin จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตามการอนุมัติจาก US FDA การใช้ในกรณีต่าง ๆ ยังคงต้องรอผลการศึกษาความปลอดภัยในการใช้ระยะยาว