หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Nirmatrelvir-ritonavir (Paxlovid) ลดความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มิถุนายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 3,035 ครั้ง
 
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 วารสาร Canadian Medical Association Journal (CMAJ) ได้ตีพิมพ์การศึกษาถึงประสิทธิภาพในการใช้ nirmatrelvir-ritonavir ภายใต้ชื่อการค้า Paxlovid ในการลดความเสี่ยงการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม โดยก่อนหน้านี้มีการศึกษาที่ชื่อ EPIC-HR study ซึ่งเป็นการศึกษาถึงประสิทธิภาพของ nirmatrelvir-ritonavir ในการลดความเสี่ยงเข้านอนโรงพยาบาลจากโควิด-19 ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงและไม่เคยได้รับวัคซีน covid-19 มาก่อน

การศึกษาจาก CMAJ เป็นการศึกษาแบบ population-based cohort study ในผู้ป่วยอายุ 17 ปีขึ้นไปที่ได้รับการยืนยันว่าพบเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคระดับรุนแรงในช่วงวันที่ 4 เมษายน ถึง 31 สิงหาคม ค.ศ. 2022 จำนวน 177,545 ราย ซึ่งประเมินความเสี่ยงจากอายุ ประวัติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะเวลาการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มล่าสุด ประวัติการติดเชื้อโควิด-19 และโรคร่วม โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ nirmatrelvir-ritonavir จำนวน 8,876 ราย (5.0%) และกลุ่มที่ไม่ได้รับ nirmatrelvir–ritonavir (กลุ่มควบคุม) จำนวน 168,669 ราย (95.0%) โดยประเมินประสิทธิผลของยาจากร้อยละของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโควิด-19 และการเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับยา ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ nirmatrelvir-ritonavir มีผู้ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจากโควิด-19 และเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 2.1 น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.7 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (odd ratio 0.56, 95%CI 0.47-0.67, p<0.001) ส่วนด้านการเสียชีวิตพบว่ากลุ่มที่ได้รับ nirmatrelvir-ritonavir มีความเสี่ยงน้อยกว่ากลุ่มควบคุมร้อยละ 51 (odd ratio 0.49, 95%CI 0.40-0.60, p<0.001)

สำหรับ nirmatrelvir เป็น peptidomimetic inhibitor ของ coronavirus 3C-like (3CL) protease ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าตัดสายโปรตีนในกระบวนการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดย nirmatrelvir ออกฤทธิ์ยับยั้ง 3CL protease ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ส่วน ritonavir ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเมแทบอลิซึมของ nirmatrelvir ทำให้ความเข้มข้นของ nirmatrelvir ในพลาสมาสูงขึ้น อ้างอิงจากแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 แนะนำการใช้ nirmatrelvir-ritonavir ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ขนาดที่ใช้ คือ nirmatrelvir 150 mg จำนวน 2 เม็ด ร่วมกับ ritonavir 100 mg จำนวน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ในวันที่ 1-5 โดยให้เริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะช่วยลดการเกิดอาการรุนแรงจากโรคได้ร้อยละ 89

เอกสารอ้างอิง

1. Schwartz KL, Wang J, Tadrous M, et al. Population-based evaluation of the effectiveness of nirmatrelvir-ritonavir for reducing hospital admissions and mortality from COVID-19. CMAJ. 2023; 195(6):E220-E226.

2. แพ็กซ์โลวิด (PaxlovidTM). เอกสารกำกับยาภาษาไทย. [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/Pages/Document/covid19/Paxlovid/ 1313%20pl-th.pdf.

3. กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 26 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565. [อินเทอร์เน็ต]. 2565. [เข้าถึงเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://covid19.dms.go.th/ backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25651201124058PM_CPG_COVID-19_v.26_n_20221130.pdf.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Paxlovid covid-19 omicron wave
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้