หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Rucaparib (PARP inhibitor) มีประสิทธิภาพในการรักษา prostate cancer

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤษภาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,577 ครั้ง
 
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 วารสาร The New England Journal of Medicine ได้ตีพิมพ์การศึกษา ชื่อ TRITON3 clinical trial ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ randomized, controlled, phase 3 trial ที่แสดงให้เห็นว่า rucaparib มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย (metastatic castration-resistant prostate cancer; mCRPC) ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน breast cancer type 1 susceptibility protein (BRCA1) หรือ BRCA2 ซึ่งมีบทบาทในการซ่อมแซม DNA และชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ หากมีกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวมากขึ้น โดย rucaparib ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ PARP (poly ADP-ribose polymerase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ซ่อมแซม DNA ของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น rucaparip จึงส่งผลให้การซ่อมแซมสาย DNA ของเซลล์มะเร็งบกพร่องจนไม่เกิดการแบ่งตัว ทั้งนี้ยากลุ่ม PARP inhibitor ที่มีใช้แล้วในปัจจุบัน ได้แก่ olaparib, niraparib และ talazoparib โดยยาเหล่านี้ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งรังไข่ (ovarian cancer) มะเร็งเต้านม (breast cancer) เท่านั้น

การศึกษานี้รวบรวมผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย mCRPC ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งยังคงมีการดำเนินไปของโรคหลังจากได้รับ abiraterone acetate (androgen biosynthesis inhibitor) หรือ enzalutamide (androgen receptor pathway inhibitor; ARPI) มาแล้วทั้งหมด 405 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ rucaparib ขนาด 600 mg วันละ 2 ครั้ง และมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA จำนวน 201 ราย จากทั้งหมด 270 ราย และกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA จำนวน 101 ราย จากทั้งหมด 135 ราย โดยยาที่แพทย์เลือกใช้ ได้แก่ docetaxel ขนาด 75 mg/m2 ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 3 สัปดาห์ จำนวนสูงสุด 10 cycle หรือ abiraterone acetate ขนาด 1000 mg วันละ 1 ครั้ง หรือ enzalutamide ขนาด 160 mg วันละ 1 ครั้ง โดยดูประสิทธิผลของยาจาก median progression-free survival (median PFS) ที่ระยะเวลาการศึกษา 62 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับ rucaparib มี median PFS ที่ 11.2 เดือน เทียบกับกลุ่มได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ที่ 6.4 เดือน (HR 0.50; 95%CI, 0.36 to 0.69) โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยในกลุ่ม rucaparib ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ภาวะโลหิตจาง ระดับฮีโมโกลบินลดลง ส่วนกลุ่มได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์พบอาการข้างเคียง ได้แก่ อ่อนเพลีย ท้องเสีย และอาการปลายประสาทอักเสบ

เอกสารอ้างอิง

1. กฤษฎา ศักดิ์ชัยศรี. Poly (ADP-ribose) polymerase (PARP) inhibitors for cancer therapy. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์. [อินเทอร์เน็ต]. 2564. [เข้าถึงเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage= article_detail&id=1021.

2. Pimsi P, Santimaleeworagun W. New Role of Olaparibon the Treatment of Epithelial Ovarian Cancer. Thai J Pharm Prac. 2561; 1:175-84.

3. Rice MA, Malhotra SV, Stoyanova T. Second-Generation Antiandrogens: From Discovery to Standard of Care in Castration Resistant Prostate Cancer. Front Oncol. 2019; 9:801.

4. Fizazi K, Piulats JM, Reaume MN, et al. Rucaparib or Physician’s Choice in Metastatic Prostate Cancer. N Engl J Med. 2023; 10.1056/NEJMoa2214676.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
rucaparib prostate cancer PARP inhibitors
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้