หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักการจัดการเกี่ยวกับยา หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (bariatric surgery) เพื่อรักษาโรคอ้วน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,729 ครั้ง
 
โรคอ้วนเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขสำคัญที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพและการเงิน หนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดน้ำหนักอย่างยั่งยืนในผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนเรื้อรัง คือ การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (bariatric surgery) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักลงได้ถึง 20 – 35% โดยวิธีนี้แนะนำให้ใช้เมื่อผู้ป่วยใช้วิธีการลดน้ำหนักอื่น ๆ มาแล้วแต่ยังไม่ได้ผล รวมทั้งยังมีข้อบ่งใช้ในผู้ที่มี body mass index (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 40 kg/ตารางเมตร หรือ ผู้ที่มี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 kg/ตารางเมตร ร่วมกับการมีโรคร่วมอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะโรคอ้วน

เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารสามารถส่งผลต่อเภสัชจลนศาสตร์ของยารับประทานจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดลงของพื้นผิวสัมผัสของกระเพาะอาหาร การลดลงของการสัมผัสต่อเอนไซม์ย่อยอาหารและโปรตีนที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหาร การลดลงของระยะเวลาที่ยาอยู่ในทางเดินอาหาร รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะมักมีโรคร่วมอื่นที่ต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมด้วย ดังนั้นการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

สำหรับหลักการจัดการทั่วไปเกี่ยวกับยาในผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ได้แก่

• ทบทวนรายการยาของผู้ป่วยเป็นประจำ

• เฝ้าระวังประสิทธิภาพของยาที่อาจลดลง ซึ่งหากเป็นดังนั้นอาจต้องเพิ่มขนาดยา เปลี่ยนรูปแบบยาหรือช่องทางการให้ยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นซึ่งมีข้อบ่งใช้เดียวกัน

• เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และสัญญาณการเกิดพิษจากยาซึ่งอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ bioavailability ของยา

• อาจต้องลดขนาดยาหรือหยุดยาสำหรับโรคเรื้อรัง เนื่องจากภาวะอ้วนของผู้ป่วยที่กำลังดีขึ้นหลังผ่าตัด

• ระมัดระวังการใช้ยาซึ่งมี narrow therapeutic index ที่จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังระดับยาอย่างใกล้ชิด เช่น anticoagulants, anticonvulsants, lithium และ digoxin โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการทำ gastric bypass

• พิจารณาการสลับสับเปลี่ยนขนาดยา โดยเฉพาะในยาน้ำ เนื่องจากความจุกระเพาะอาหารที่ลดลง โดยอาจใช้ยาน้ำที่เข้มข้นสูงขึ้นเพื่อลดปริมาณยาที่ใช้ในแต่ละครั้ง

• หลีกเลี่ยงยาที่มีขนาดใหญ่ (มากกว่า 10 มม.) โดยอาจบดหรือเปลี่ยนรูปแบบยา

• หลีกเลี่ยงการใช้ enteric-coated หรือ sustained-release formulations เนื่องจากยาจะผ่านทางเดินอาหารก่อนที่การดูดซึมจะสมบูรณ์ และยาบางรูปแบบอาจมีความเสี่ยงที่ inert formulation matrix จะเกิดการสะสมได้



เอกสารอ้างอิง

1. National Health and Medical Research Council. Clinical practice guidelines for the management of overweight and obesity in adults, adolescents and children in Australia. Melbourne: NHMRC; 2013. [cited 2022 Sep 1]

2. Teresa Girolamo, Rosemary Allin. Bariatric surgery and medicines: from first principles to practice. [Internet].2022[cited 2022 Oct 28]. Available from: https://www.nps.org.au/australian-prescriber/articles/bariatric-surgery-and-medicines-from-first-principles-to-practice

3. Kingma JS, Burgers DM, Monpellier VM, Wiezer MJ, Blussé van Oud-Alblas HJ, Vaughns JD, et al. Oral drug dosing following bariatric surgery: General concepts and specific dosing advice. Br J Clin Pharmacol 2021;87:4560-76

4. Lorico S, Colton B. Medication management and pharmacokinetic changes after bariatric surgery. Can Fam Physician 2020;66:409-16.

5. Porat D, Dahan A. Medication management after bariatric surgery: providing optimal patient care. J Clin Med 2020;9:1511.

6. Pollock A, Petrick AT, Gadaleta D. Raising the standard: The role of the clinical pharmacist in the care of the bariatric surgery patient. Bariatric Times 2021;18:16-7

7. Bariatric surgery patients and their medicines. NHS PrescQIPP 2014;54:1-7. [cited 2022 Sep 1]


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Bariatric surgery Drug management Medicines
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้