หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Sutimlimab...complement protein component 1s inhibitor สำหรับรักษา cold agglutinin disease

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มีนาคม ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,308 ครั้ง
 
Cold agglutinin disease เป็นโรคภูมิต้านตนเองที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก พบได้น้อย ในโรคนี้พบแอนติบอดีที่ไวต่อความเย็นซึ่งส่วนใหญ่เป็น IgM ทำงานดีที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30°C โดยแอนติบอดีจะจับกับแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกและเกิดโรคโลหิตจาง (เป็น autoimmune hemolytic anemia ชนิดหนึ่ง) ซึ่งการเกิด IgM-antigen complex มีฤทธิ์แรงในการกระตุ้น classic complement pathway (โดย IgM-antigen complex จับกับ C1 complement complex ทำให้เกิดการปลุกฤทธิ์ complement protein component 1, s subcomponent หรือ C1s ซึ่งเป็น C1 complex serine protease ทำหน้าที่ในขั้นตอนแยก C4 ออกเป็นส่วนย่อย) เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาใหม่ คือ sutimlimab (ชื่ออื่น: sutimlimab-jome) เป็น humanized IgG4 monoclonal antibody ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ C1s จึงขัดขวาง classical complement pathway ยานี้มีใช้แล้วในบางประเทศในข้อบ่งใช้สำหรับลดความต้องการรับการให้เม็ดเลือดแดงใน cold agglutinin disease ผลิตในรูปยาฉีด มีตัวยา 1,100 มิลลิกรัมในปริมาตร 22 มิลลิลิตร (50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ก่อนให้ยาผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพวก encapsulated bacteria ไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ (เพราะช่วงให้ยาจะเกิด complement deficiency) ขนาดยาในผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 39 กิโลกรัมขึ้นไปแต่ไม่ถึง 75 กิโลกรัมให้ 6,500 มิลลิกรัม หากมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 75 โลกรัมขึ้นไปให้ 7,500 มิลลิกรัม โดยช่วงแรกให้ยาทุกสัปดาห์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ยาทุก 2 สัปดาห์ โดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ

การศึกษาทางคลินิกที่มาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็น open-label, single-arm trial นาน 6 เดือน ในผู้ป่วย cold agglutinin disease จำนวน 24 คน ให้ยาขนาด 6.5 กรัม หรือ 7.5 กรัม ซึ่งขึ้นกับน้ำหนักตัวผู้ป่วย โดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำนาน 60 นาที ในวันที่ 0, วันที่ 7 และจากนั้นให้ทุก 14 วัน ไปจนถึงที่สัปดาห์ที่ 25 ประเมินผลด้วยสัดส่วนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ มีระดับฮีโมโกลบินเพิ่มจากค่าเริ่มต้น ≥2 กรัม/เดซิลิตร หรือมีระดับ ≥12 กรัม/เดซิลิตร ในช่วงที่ประเมิน (คิดค่าเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 23, 25 และ 26), ไม่ได้รับการให้เลือดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 จนถึงสัปดาห์ที่ 26 และไม่ได้รับการรักษา cold agglutinin disease ด้วยยานอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 จนถึงสัปดาห์ที่ 26 ผลการศึกษาพบว่ามีผู้ให้การตอบสนองจำนวน 13 คน (54%), ผู้ที่มีระดับฮีโมโกลบินเพิ่มจากค่าเริ่มต้น ≥2 กรัม/เดซิลิตร หรือมีระดับ ≥12 กรัม/เดซิลิตร ในช่วงที่ประเมินจำนวน 15 คน (63%), ผู้ที่ไม่ได้รับการให้เลือดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 จนถึงสัปดาห์ที่ 26 (transfusion avoidance) จำนวน 17 คน (71%) และผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา cold agglutinin disease ด้วยยานอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 จนถึงสัปดาห์ที่ 26 จำนวน 22 คน (92%) ผลไม่พึงประสงค์ของ sutimlimab ที่พบ (≥10%) ได้แก่ ติดเชื้อทีทางเดินหายใจ, การติดเชื้อไวรัส, ท้องเดิน, อาหารไม่ย่อย, ไอ, ปวดข้อ และปลายแขน-ขาบวม

อ้างอิงจาก:

(1) Röth A, Barcellini W, D’Sa S, Miyakawa Y, Broome CM, Michel M, et al. sutimlimab in cold agglutinin disease. N Engl J Med 2021;384:1323-34; (2) Enjaymo (sutimlimab-jome) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4932699, revised: 02/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/761164s000lbl.pdf?utm_medium=email&utm_source=govdelivery
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้