หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Omadacycline (tetracycline ยุคใหม่) กับบทบาทในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2561 -- อ่านแล้ว 5,662 ครั้ง
 
Omadacycline เป็น tetracycline ยุคใหม่ (modernized tetracycline) วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ยานี้เป็นอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ของ tetracycline มีโครงสร้างเป็น aminomethylcycline พัฒนายานี้ขึ้นมาเพื่อเอาชนะเชื้อแบคทีเรียที่เคยดื้อยาเดิมในกลุ่ม tetracyclines จึงเป็นการกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งของยาในกลุ่มดังกล่าว omadacycline มีฤทธิ์กว้าง ครอบคลุมแบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ atypical bacteria และแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยาชนิดอื่นๆ ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาอื่นในกลุ่ม tetracyclines คือจับกับ 30S ribosomal subunit และยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรีย ยานี้ใช้กับผู้ใหญ่ในข้อบ่งใช้สำหรับ (1) รักษาโรคปอดอักเสบชนิด community-acquired bacterial pneumonia ซึ่งเกิดจากเชื้อที่ไวต่อยานี้ ได้แก่ Streptococcus pneumoniae, Staphylococcus aureus (ชนิดที่ไวต่อ methicillin), Haemophilus influenzae, Haemophilus parainfluenzae, Klebsiella pneumoniae, Legionella pneumophila, Mycoplasma pneumoniae และ Chlamydophila pneumoniae และ (2) รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนังและโครงสร้าง (acute bacterial skin and skin structure infections) ซึ่งเกิดจากเชื้อที่ไวต่อยานี้ ได้แก่ Staphylococcus aureus (ทั้งชนิดที่ไวต่อ methicillin และชนิดที่ดื้อยานี้), Staphylococcus lugdunensis, Streptococcus pyogenes, Streptococcus anginosus (รวมถึง S. intermedius และ S. constellatus), Enterococcus faecalis, Enterobacter cloacae และ Klebsiella pneumoniae

ยาที่วางจำหน่ายจะอยู่ในรูป omadacycline tosylate (เกลือ monotosylate) มีทั้งชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดความแรง 150 มิลลิกรัม และชนิดยาฉีดซึ่งเป็นผงยาบรรจุในขวดยาสำหรับใช้ครั้งเดียว (single-dose vial) ต้องละลายยาและเจือจางก่อนฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบ infusion แต่ละขวดมีปริมาณตัวยาเทียบเท่า omadacycline 100 มิลลิกรัม ขนาดยาสำหรับรักษาโรคปอดอักเสบชนิด community-acquired bacterial pneumonia ในวันที่แรกให้ loading dose ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบ infusion ใช้เวลาให้ยา 60 นาที หรือแบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบ infusion ใช้เวลาให้ยา 30 นาที ต่อจากนั้นอาจให้ในรูปยาฉีดครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบ infusion ใช้เวลาให้ยา 30 นาที หรือเปลี่ยนเป็นชนิดเม็ด รับประทาน 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ให้ยาทั้งสิ้นเป็นเวลา 7-14 วัน ส่วนการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนังและโครงสร้าง ขนาดยาและการให้จะเหมือนกับการรักษาโรคปอดอักเสบตามที่กล่าวข้างต้นทุกประการ หรืออาจให้เฉพาะชนิดเม็ดอย่างเดียวดังนี้ วันที่ 1 และ 2 ให้ loading dose รับประทานขนาด 450 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ต่อจากนั้นรับประทานขนาด 300 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ให้ยาทั้งสิ้นเป็นเวลา 7-14 วัน

การที่ยานี้ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นนั้นมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุน กรณีที่ใช้รักษาโรคปอดอักเสบชนิด community-acquired bacterial pneumonia การศึกษาเป็นแบบ randomized, multinational, double-blind, double-dummy trial ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ เปรียบเทียบการใช้ omadacycline (386 คน) กับ moxifloxacin (388 คน) ให้ยาเป็นเวลา 7-14 วัน ผลการศึกษาพบว่า omadacycline ให้ประสิทธิผลไม่ด้อยกว่า moxifloxacin โดยมีอัตราการตอบสนองทางคลินิกช่วงแรก (ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้) ใน 72-120 ชั่วโมงหลังจากเริ่มให้ยา ในกลุ่ม omadacycline เท่ากับ 81.1% และกลุ่ม moxifloxacin เท่ากับ 82.7% ส่วนกรณีที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนังและโครงสร้าง มีการศึกษาที่เป็นแบบ multicenter, multinational, double-blind, double-dummy trial จำนวน 2 การศึกษา ทำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติเหล่านี้ ได้แก่ แผลติดเชื้อ (58%) เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis) (24%) และฝีขนาดใหญ่ (18%) ทั้งสองการศึกษาเปรียบเทียบกับ linezolid ให้ยาทั้งสองชนิดเป็นเวลา 7-14 วัน โดยการศึกษาแรก (กลุ่ม omadacycline มี 329 คนและกลุ่ม linezolid มี 326 คน) เริ่มต้นให้ยาแต่ละชนิดโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำแบบ infusion ต่อมาในทั้งสองกลุ่มอาจเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทาน ส่วนการศึกษาที่สอง (กลุ่ม omadacycline มี 368 คนและกลุ่ม linezolid มี 367 คน) ให้ยาทั้งสองชนิดโดยการรับประทานตั้งแต่เริ่มต้นจนครบระยะเวลา ทั้งสองการศึกษาประเมินประสิทธิผลด้วยอัตราการตอบสนองทางคลินิกช่วงแรก (ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้) ใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มให้ยา ผลการศึกษาพบว่า ในการศึกษาแรกมีอัตราการตอบสนองทางคลินิกในกลุ่ม omadacycline เท่ากับ 84.8% เทียบกับ 85.5% ในกลุ่ม linezolid ส่วนการศึกษาที่สองมีอัตราการตอบสนองทางคลินิกในกลุ่ม omadacycline เท่ากับ 87.3% เทียบกับ 82.2% ในกลุ่ม linezolid อาการไม่พึงประสงค์ของ omadacycline ที่อาจพบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินหรือท้องผูก เกิดปฏิกิริยาตรงบริเวณที่ฉีดยา ค่าเอนไซม์ alanine aminotransferase, aspartate aminotransferase และ gamma-glutamyl transferase เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ

อ้างอิงจาก:

(1) Nuzyra (omadacycline). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4329379, revised: 10/2018. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/209816_209817lbl.pdf; (2) Barber KE, Bell AM, Wingler MJB, Wagner JL, Stover KR. Omadacycline enters the ring: a new antimicrobial contender. Pharmacotherapy 2018. doi: 10.1002/phar.2185; (3) Montravers P, Tran-Dinh A, Tanaka S. The role of omadacycline in skin and soft tissue infections. Curr Opin Infect Dis 2018;31:148-54.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
omadacycline tetracyclines modernized tetracycline aminomethylcycline แบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ atypical bacteria 30S ribosomal subunit ยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน รักษาโรคปอดอักเสบ single-dose vial community-acquired bacterial pneum
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้