หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Plecanatide…guanylate cyclase-C agonist สำหรับรักษาโรคท้องผูก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ธันวาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 3,203 ครั้ง
 
Guanylate cyclase-C (GC-C) เป็นเอนไซม์ guanylate cyclase ชนิดที่มีบทบาทสำคัญที่ลำไส้ โดยทำหน้าที่เป็นตัวรับ (receptor) อยู่ที่เซลล์เมมเบรนของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์ และเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยออกฤทธิ์ผ่าน cyclic guanosine monophosphate (cGMP) ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับนี้ (guanylate cyclase-C agonists) เช่น plecanatide (มีโครงสร้างคล้าย uroguanylin) จะเพิ่มการขับคลอไรด์ ไบคาร์บอเนต โซเดียมและน้ำเข้าสู่ภายในลูเมนของลำไส้ รวมถึงเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ จึงมีบทบาทในการรักษาโรคท้องผูก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Guanylate cyclase-C…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคท้องผูกและโรคอื่นๆ” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2560 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1434) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ plecanatide ได้รับอนุมัติให้วางจำหน่ายในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ (chronic idiopathic constipation) ในผู้ใหญ่ โดยผลิตในรูปยาเม็ดที่มีความแรง 3 มิลลิกรัม ขนาดรับประทาน 3 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

การที่ยานี้ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา ได้แก่ Study 1 และ Study 2 ที่เป็น double-blind, placebo-controlled, randomized, multicenter clinical trials โดยศึกษาในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ ประเมินอาการท้องผูกโดยใช้ Rome III criteria ที่มีการดัดแปลง ใน Study 1 มีผู้ป่วย 905 คน และใน Study 2 มีผู้ป่วย 870 คน ทั้งสองการศึกษาแบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม เท่าๆ กัน เพื่อให้ plecanatide 3 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือยาหลอก ดูผลนาน 12 สัปดาห์ ประเมินผลด้านประสิทธิภาพโดยดูจากอัตราผู้ที่ให้การตอบสนองต่อการรักษา (responder rate) ซึ่ง “ผู้ที่ให้การตอบสนองต่อการรักษา (responder)” หมายถึงผู้ที่สามารถถ่ายอุจจาระได้เองไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์และต้องมีจำนวนครั้งที่ถ่ายเพิ่มจากเดิมก่อนให้ยาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 9 สัปดาห์ในช่วงเวลา 12 สัปดาห์ที่ทำการศึกษา และ 3 สัปดาห์ในช่วงเวลา 4 สัปดาห์สุดท้าย ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ plecanatide มีอัตราผู้ที่ให้การตอบสนองต่อการรักษาสูงกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทั้งสองการศึกษา (Study 1 เท่ากับ 21% เทียบกับ 10% และ Study 2 เท่ากับ 21% เทียบกับ 13% ค่า p<0.005 ในทั้งสองการศึกษา) นอกจากนี้ในช่วง 12 สัปดาห์ที่ทำการศึกษานี้กลุ่มที่ได้รับ plecanatide มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระ (จำนวนครั้งที่ถ่าย) มากกว่ากลุ่มยาหลอก ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ท้องเดิน

อ้างอิงจาก:

(1) Al-Salama ZT, Syed YY. Plecanatide: first global approval. Drugs 2017;77:593-8; (2) Plecanatide. https://www.rxlist.com/trulance-drug.htm; (3) Koliani-Pace J, Lacy BE. Update on the management of chronic constipation. Curr Treat Options Gastroenterol 2017;15:126-34

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
guanylate cyclase-C GC-C guanylate cyclase cyclic guanosine monophosphate cGMP guanylate cyclase-C agonist plecanatide uroguanylin คลอไรด์ ไบคาร์บอเนต โซเดียม โรคท้องผูก โรคท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ chronic idiopathic constipation
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้