Guselkumab…monoclonal antibody ต่อ IL-23p19 subunit ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 5,217 ครั้ง
Interleukin-23 (IL-23) เป็น pro-inflammatory cytokine ที่มีบทบาทในการเกิดโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน (immune-mediated diseases) หลายอย่างที่มีปฏิกิริยาการอักเสบเกิดขึ้นด้วยซึ่งรวมถึงโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) การที่ IL-23 มีลักษณะเป็น heterodimer ประกอบด้วย 2 หน่วยย่อย (subunit) ได้แก่ p19 subunit (หรือ IL-23A) และ p40 subunit (หรือ IL-12p40) จึงมีการคิดค้นยาที่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ต่อ p19 subunit หรือ p40 subunit เพื่อใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “IL-23p19 subunit…เป้าหมายใหม่ในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคสะเก็ดเงิน” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2560) สำหรับ ustekinumab ซึ่งเป็น human immunoglobulin G1 kappa (IgG1қ) monoclonal antibody ที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อ P40 subunit นั้นมีจำหน่ายมาระยะหนึ่งแล้ว มีข้อบ่งใช้ในผู้ใหญ่สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis) ที่มีรอยโรคระดับปานกลางจนถึงรุนแรงและข้ออักเสบในโรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis) และยานี้ยังได้รับข้อบ่งใช้กับโรคทางระบบภูมิคุ้มกันชนิดอื่นด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ มียาที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อ P19 subunit ของ IL-23 ออกวางจำหน่าย ได้แก่ guselkumab ยานี้เป็น human immunoglobulin G1 lambda (IgG1λ) monoclonal antibody มีข้อบ่งใช้ในผู้ใหญ่สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาที่มีรอยโรคระดับปานกลางจนถึงรุนแรงที่ต้องการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทั่วร่างกาย (systemic therapy) หรือการรักษาโดยใช้แสง (phototherapy) ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาน้ำสำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง บรรจุในหลอดยาฉีดสำหรับการให้ครั้งเดียว (single-dose prefilled syringe) ปริมาตร 1 มิลลิลิตร มีตัวยา 100 มิลลิกรัม ขนาดยาที่ใช้คือ 100 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0, สัปดาห์ที่ 4 และหลังจากนั้นฉีดทุก 8 สัปดาห์
การที่ guselkumab ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุน เป็นการศึกษาระยะที่ 3 จำนวน 3 การศึกษา ได้แก่ VOYAGE 1, VOYAGE 2 และ NAVIGATE ใน VOYAGE 1 และ VOYAGE 2 มีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาที่มีรอยโรคระดับปานกลางจนถึงรุนแรง จำนวนรวม 1,443 คน แบ่งแบบสุ่มในอัตราส่วน 2:2:1 เพื่อให้ยา guselkumab (100 มิลลิกรัม ฉีดโดยเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0, สัปดาห์ที่ 4 และหลังจากนั้นฉีดทุก 8 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 44) หรือ adalimumab (ฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 80 มิลลิกรัมในสัปดาห์ที่ 0, 40 มิลลิกรัมในสัปดาห์ที่ 1 และหลังจากนั้นฉีด 40 มิลลิกรัมทุก 2 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 47) หรือยาหลอก (ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0, สัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 12 หลังจากนั้นฉีด guselkumab 100 มิลลิกรัม ในสัปดาห์ที่ 16, สัปดาห์ที่ 20 และหลังจากนั้นฉีดทุก 8 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 44) ผลการรักษาเมื่อประเมินด้วย Psoriasis Area and Severity Index (PASI) score พบว่าในสัปดาห์ที่ 16 กลุ่มที่ได้รับ guselkumab มีผลการรักษาดีกว่ากลุ่ม adalimumab และยาหลอก โดยจำนวนผู้ป่วยที่ให้การตอบสนองเมื่อประเมินด้วย PASI score ซึ่งต้องมีรอยโรคดีขึ้นไม่น้อยกว่า 90% (PASI 90) เท่ากับ 73.3%, 49.7% และ 2.9% ตามลำดับ นอกจากนี้สัดส่วนผู้ที่ให้การตอบสนองเมื่อประเมินด้วย PASI 100 ในกลุ่ม guselkumab (37.4%) มีสูงกว่ากลุ่ม adalimumab (17.1%) และเมื่อประเมินผลในสัปดาห์ที่ 48 พบสัดส่วนผู้ที่ให้การตอบสนองเมื่อประเมินด้วย PASI 75/90/100 เท่ากับ 87.8%, 76.3% และ 47.4% ตามลำดับ ในกลุ่ม guselkumab เทียบกับ 62.6%, 47.9% และ 23.4% ในกลุ่ม adalimumab ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการศึกษาใน VOYAGE 2 ทำในผู้ป่วยกลุ่ม guselkumab ที่มีผลการรักษาในระดับ PASI 90 ในสัปดาห์ที่ 28 แบ่งผู้ป่วยแบบสุม ในอัตราส่วน 1:1 เพื่อให้ guselkumab ต่อไป หรือให้ยาหลอก เพื่อดูผลเมื่อหยุดให้ยา ผลการศึกษาพบว่าสัปดาห์ที่ 48 ในกลุ่มยาหลอกมีจำนวนผู้ป่วยเพียง 36.8% ที่ยังคงมีผลการรักษาในระดับ PASI 90 เทียบกับ 88.6% ในกลุ่มที่ยังคงใช้ยาต่อไป นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย adalimumab สัปดาห์ที่ 28 ไม่เพียงพอโดยผลการรักษาไม่ถึงระดับ PASI 90 เมื่อเปลี่ยนไปให้ guselkumab พบว่าสัปดาห์ที่ 48 ผู้ป่วยที่ให้ผลการรักษาในระดับ PASI 90 และ PASI 100 มีจำนวน 66.1% และ 28.6% ตามลำดับ ส่วนการศึกษาใน NAVIGATE ทำในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่เพียงพอเมื่อใช้ ustekinumab (ขนาดยา 45 มิลลิกรัม หรือ 90 มิลลิกรัม ขึ้นกับน้ำหนักตัว ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสัปดาห์ที่ 0, สัปดาห์ที่ 4 และหลังจากนั้นฉีดทุก 12 สัปดาห์) พบว่าเมื่อเปลี่ยนเป็น guselkumab ในขนาด 100 มิลลิกรัม ฉีดในสัปดาห์ที่ 16, สัปดาห์ที่ 20 และหลังจากนั้นฉีดทุก 8 สัปดาห์) เห็นผลการรักษาดีขึ้น ซึ่งผลจากการศึกษาทางคลินิกทั้ง 3 การศึกษาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของ guselkumab ที่สูงกว่า adalimumab ตลอด 48 สัปดาห์ และต้องใช้ guselkumab อย่างต่อเนื่องเพื่อคงผลการรักษาไว้ นอกจากนี้ในผู้ที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย ustekinumab ไม่เพียงพอ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ guselkumab เห็นผลการรักษาดีขึ้น ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของ guselkumab ที่พบ เช่น ช่องจมูกและคออักเสบ ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน เกิดปฏิกิริยาผิดปกติตรงตำแหน่งที่ฉีดยา ปวดศีรษะ ปวดข้อ ทางเดินอาหารอักเสบ ท้องเดิน ติดเชื้อรา (tinea infections) ติดเชื้อเริม (herpes simplex infections)
อ้างอิงจาก:
(1) Tremfya (guselkumab) injection, for subcutaneous use--Prescribing information, approved: July/2017. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/761061s000lbl.pdf; (2) Chen Z, Gong Y, Shi Y. Novel biologic agents targeting interleukin-23 and interleukin-17 for moderate-to-severe psoriasis. Clin Drug Investig 2017. doi: 10.1007/s40261-017-0550-z; (3) Nakamura M, Lee K, Jeon C, Sekhon S, Afifi L, Yan D, Lee K, Bhutani T. Guselkumab for the treatment of psoriasis: a review of phase III trials. Dermatol Ther 2017;7:281-92.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
guselkumab
monoclonal antibody
IL-23p19 subunit
โรคสะเก็ดเงิน
interleukin-23
IL-23
pro-inflammatory cytokine
โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน
immune-mediated disease
psoriasis
heterodimer
p19 subunit IL-23A
p40 subunit
IL-12p40
ustekinumab
human