หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Crisaborole…PDE4 inhibitor สำหรับรักษา atopic dermatitis

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2560 -- อ่านแล้ว 5,813 ครั้ง
 
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis; AD) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคนี้มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ phosphodiesterase (PDE) ชนิด PDE4 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีอยู่ใน inflammatory cells หลายชนิด เมื่อ PDE4 ทำงานมากเกินจะทำให้การสร้าง inflammatory (proinflammatory) cytokines ที่ผ่านทาง NF-κB, NFAT และโปรตีนอื่นๆ เกิดมากขึ้น เช่น TNF-α, IL-1β, IL-2, IL-4, IL-6, IL-23, IL-31, IFN-ϒ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง PDE4 (PDE4 inhibitors) จะทำให้ cAMP ภายในเซลล์เพิ่มขึ้น เกิดการปลุกฤทธิ์ PKA (หรือ cAMP-dependent protein kinase) ซึ่ง PKA จะลดการทำหน้าที่ของ NF-κB, NFAT เป็นผลให้การสร้าง inflammatory cytokines ลดลง (ข้อมูลเพิ่มเติมดูเรื่อง “Phosphodiesterase 4 (PDE4)…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษา atopic dermatitis” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2560) ปัจจุบันมียายับยั้ง PDE4 ที่ใช้สำหรับรักษา AD ออกวางจำหน่ายแล้ว ได้แก่ crisaborole ในรูปยาขี้ผึ้งความแรง 2% สำหรับใช้ภายนอกเพื่อรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังระดับอ่อนถึงระดับปานกลางในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ใช้ทาบริเวณรอยโรควันละ 2 ครั้ง

การที่ crisaborole ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้นเนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนจำนวน 2 ศึกษา (Trial 1 และ Trial 2) เป็นการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, parallel-group, vehicle-controlled trial ในผู้ป่วย AD รวม 1,522 คน อายุ 2 ถึง 79 ปี (86.3% เป็นผู้ที่มีอายุ 2 ถึง 17 ปี) ผู้ป่วยเหล่านี้มีความรุนแรงของโรคเมื่อประเมินด้วย Investigator’s Static Global Assessment (ISGA; ประเมินจากลักษณะรอยโรค erythema, induration/population และ oozing/crusting แบ่งความรุนแรงเป็นระดับ 0 ถึง 4) อยู่ในระดับอ่อนซึ่งมีคะแนน 2 (38.5%) หรือระดับปานกลางซึ่งมีคะแนน 3 (61.5%) แบ่งผู้ป่วยแบบสุ่มเพื่อให้ยา crisaborole หรือยาหลอก (vehicle) ในอัตราส่วน 2:1 (ใน Trial 1 มีผู้ป่วยได้รับยา 503 คน ได้รับยาหลอก 256 คน และใน Trial 2 มีผู้ป่วยได้รับยา 513 คน ได้รับยาหลอก 250 คน) ทายาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 28 วัน ประเมินผลในวันที่ 29 ซึ่งผลการรักษาถือว่าประสบความสำเร็จ (primary efficacy endpoint) หาก ISGA มีคะแนน 0 (ไม่มีรอยโรค) หรือ 1 (เกือบไม่มีรอยโรค) ซึ่งคะแนนดีขึ้นจาก baseline ≥2 ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาประสบความสำเร็จในการรักษามากกว่ากลุ่มยาหลอก (ใน Trial 1 เท่ากับ 32.8% เทียบกับ 25.4% และใน Trial 2 เท่ากับ 31.4% เทียบกับ 18%) สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ปวดบริเวณที่ทายา ยานี้ถูกดูดซึมเข้าระบบของร่างกายได้เล็กน้อย การทาเป็นบริเวณกว้างขึ้นยาจะเข้าสู่กระแสเลือดได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่พบการเพิ่มขึ้นของอาการไม่พึงประสงค์

อ้างอิงจาก:

(1) Zane LT, Chanda S, Jarnagin K, Nelson DB, Spelman L, Gold LS. Crisaborole and its potential role in treating atopic dermatitis: overview of early clinical studies. Immunotherapy 2016;8:853-66; (2) Crisaborole. http://www.rxlist.com/eucrisa-drug.htm; (3) Silverberg JI, Nelson DB, Yosipovitch G. Addressing treatment challenges in atopic dermatitis with novel topical therapies. J Dermatolog Treat 2016;27:568-76.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง atopic dermatitis AD โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง phosphodiesterase PDE PDE4 inflammatory cell inflammatory cytokine NF-κB NFAT TNF-α¬ IL-1β IL-2 IL-4 IL-6 IL-23 IL-31 IFN-ϒ PDE4 inhibitor
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้