หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

USFDA อนุมัติการใช้ iloperidone ในการรักษาโรค bipolar

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มิถุนายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 415 ครั้ง
 
Bipolar disorder หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้าสลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือหลาย ๆ เดือน สามารถแบ่ง bipolar disorder เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) bipolar I ซึ่งผู้ป่วยมีช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติระดับ mania (มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย) สลับกับช่วงซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีแค่ช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติระดับ mania อย่างเดียวก็ได้ และ 2) bipolar II ซึ่งผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าสลับกับช่วงอารมณ์ดีระดับ hypomania (มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันผู้ป่วย) โดยหนึ่งในวิธีรักษาผู้ป่วยในภาวะ mania คือ การใช้ยากลุ่ม antipsychotics เช่น risperidone และ lurasidone

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567 USFDA ได้อนุมัติการใช้ยา iloperidone (Fanapt®) เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการรักษาอาการ mania เฉียบพลัน (acute treatment of manic) หรือ mixed episodes (มีทั้ง mania และ depression ผสมกัน) ในผู้ใหญ่ที่เป็น bipolar I โดย iloperidone เป็นยาในกลุ่ม atypical antipsychotics ได้รับการอนุมัติครั้งแรกจาก USFDA ในปี พ.ศ. 2552 สำหรับรักษาโรค schizophrenia ออกฤทธิ์เป็น dopamine D2/serotonin 5-HT2A receptor antagonist จึงยับยั้งการทำงานของ serotonin 5-HT2A และ dopamine D2,3 receptors และลดการทำงานของ dopamine ที่สมองส่วน mesolimbic

โดยประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ iloperidone ในการรักษา bipolar I อ้างอิงมาจากการทดลองทางคลินิกระดับ phase 3 ในผู้ป่วย bipolar จำนวน 414 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ iloperidone 24 mg 206 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 208 คน เป็นระยะเวลา 28 วัน แล้วทำการประเมินอาการ mania โดยใช้แบบประเมิน Young Mania Rating Scale (YMRS) พบว่ากลุ่มที่ได้ยา iloperidone มีค่า mean reduction ของ YMRS ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับการประเมินด้วยแบบประเมินอื่น ๆ ซึ่งผลการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่า iloperidone สามารถรักษาอาการ mania ในช่วง 4 สัปดาห์แรกได้อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนในเรื่องความปลอดภัย พบว่า iloperidone มีอุบัติการณ์ในการเกิด akathisia และอาการทาง extrapyramidal ต่ำกว่า atypical antipsychotics อื่น ๆ เช่น ziprasidone และ risperidone ซึ่งอาจเกิดจากการที่ iloperidone มีความสามารถในการจับ dopamine D2 receptors น้อย อย่างไรก็ตามยานี้ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ปากแห้ง คอแห้ง (ยับยั้ง muscarinic M2,3 receptor) น้ำหนักเพิ่มขึ้น ง่วงซึม (ยับยั้ง serotonin 5-HT2A,2C receptor และ H1 receptor) คัดจมูกและ orthostatic hypotension (ยับยั้ง alpha-1 receptor) โดยยานี้ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อม (dementia-related psychosis) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาดยาที่ชัดเจนของ iloperidone ในการใช้รักษา bipolar I แต่ให้เริ่มต้นในขนาดต่ำก่อน และควรปรับขนาดยาเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ orthostatic hypotension

เอกสารอ้างอิง

1. Grande I, Berk M, Birmaher B, Vieta E. Bipolar disorder. Lancet. 2016; 387(10027):1561-72.

2. Medscape. FDA Approves Iloperidone for Bipolar Disorder [Internet]. 2023 [cited 2024 Apr 30]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/novel-agent-curbs-alzheimers-related-agitation-2024a10007ug?ecd=a2a.

3. Torres R, Czeisler EL, Chadwick SR, et al. Efficacy and safety of iloperidone in bipolar mania: a double-blind, placebo-controlled study. J Clin Psychiatry. 2024; 85(1): 23m14966.

4. Yasgur BS. Schizophrenia med safe, effective for bipolar mania: phase 3 data. MedScape. 2024 [cited 2024 Apr 30]. Available from: https://www.medscape.com/ viewarticle/schizophrenia-med-safe-effective-bipolar-mania-phase-3-data-2024a 100029i?form=fpf.

5. Caccia S, Pasina L, Nobili A. New atypical antipsychotics for schizophrenia: iloperidone. Drug Des Devel Ther. 2010; 4:33-48.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
bipolar disorder mania antipsychotics โรคไบโพลาร์
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้