ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับ (insomnia) เช่น GABA(A) receptor modulators, histamine receptor antagonists, melatonin receptor agonists ยาเหล่านี้มีอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น ง่วงนอนช่วงกลางวัน รบกวนกระบวนการทางสติปัญญาหรือเชาวน์ปัญญา (cognitive function) สับสน เวียนศีรษะ การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ การติดยา เป็นต้น จึงมีการคิดค้นยาชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง จากการที่พบว่า orexins (orexin A หรือ hypocretin-1 และ orexin B หรือ hypocretin-2) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทจากไฮโปทาลามัส (hypothalamic neuropeptides) โดยหลั่งจาก orexin neurons (ในสมองมีประมาณ 70,000 เซลล์) ที่กระจายอยู่บริเวณ perifornical lateral hypothalamus นั้นมีบทบาทในการควบคุมรอบการหลับ-การตื่น กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว (wakefulness) โดยควบคุมการทำงานของ monoaminergic neurons (ดูรูป) และ cholinergic neurons ด้วย ดังนั้นการยับยั้งที่ตัวรับของ orexins จึงกดการตื่นตัวและทำให้หลับ
Suvorexant (C23H23ClN6O2 = 450.92) เป็นยาตัวแรกในกลุ่ม orexin (hypocretin) receptor antagonists ที่ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับ ออกฤทธิ์เลือกเฉพาะต่อ orexin (hypocretin) receptor แต่ไม่เลือกเฉพาะต่อตัวรับชนิดใดชนิดหนึ่ง กล่าวคือออกฤทธิ์เป็นแบบ dual orexin receptor antagonist ที่ตัวรับทั้งชนิด orexin 1 receptor (OX1R หรือ HCRTR1) ซึ่งเป็นตัวรับของ orexin A หรือ hypocretin-1 และ orexin 2 receptor (OX2R หรือ HCRTR2) ซึ่งเป็นตัวรับของ orexin B หรือ hypocretin-2 ยานี้ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายได้แล้วในบางประเทศ เป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มความแรง 5, 10, 15 และ 20 มิลลิกรัม ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับในรายที่หลับยากและ/หรือตื่นบ่อย เนื่องจากยาช่วยให้หลับได้ง่ายและหลับตลอดช่วงกลางคืน ขนาดยาที่แนะนำเริ่มแรกคือ 10 มิลลิกรัม รับประทานภายในเวลาไม่เกิน 30 นาทีก่อนเข้านอนและต้องมีเวลานอนไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง รับประทานไม่เกินคืนละ 1 เม็ด หากขนาดดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลและผู้ป่วยทนต่ออาการข้างเคียงได้ดี สามารถค่อยๆ เพิ่มขนาดยาได้ ขนาดสูงสุดคือ 20 มิลลิกรัม ซึ่งยาในขนาด 20 มิลลิกรัมนี้จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนช่วงกลางวันและรบกวนการขับขี่อย่างมาก จึงควรใช้ขนาดต่ำสุดที่ให้ผลการรักษา อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยคือ ง่วงนอน และการที่ยานี้ออกฤทธิ์เป็น orexin antagonist จึงอาจมีศักยภาพที่จะส่งผลต่อการเกิดภาวะง่วงเกิน (narcolepsy) และภาวะปวกเปียก (cataplexy) ซึ่งภาวะภาวะง่วงเกินเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่สัมพันธ์กับการสูญเสีย orexin neurons ผู้ป่วยจะมีภาวะง่วงอย่างรุนแรงและมีภาวะปวกเปียกด้วย อาการเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ในช่วงกลางวัน
อ้างอิงจาก:
(1) Suvorexant. http://www.rxlist.com/belsomra-drug.htm; (2) Mieda M, Sakurai T. Orexin (hypocretin) receptor agonists and antagonists for treatment of sleep disorders. Rationale for development and current status. CNS Drugs 2013;27:83-90; (3) Belsomra (suvorexant) tablets. Highlights of prescribing information. Revised 08/2014; (4) Cooper CK. Orexin receptor antagonists: novel hypnotic agents. Ment Health Clin 2014;4(2):64. Available at: http://cpnp.org/resource/mhc/2014/03/orexin-receptor-antagonists-novel-hypnotic-agents; (5) Bennett T, Bray D, Neville MW. Suvorexant, a dual orexin receptor antagonist for the management of insomnia. P&T 2014;39(4):264-6.