หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รูปแบบยาทางเลือก สำหรับใช้ในเด็ก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2556 -- อ่านแล้ว 12,867 ครั้ง
 

การเลือกรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เหมาะสมกับเด็ก นับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญและแก้ปัญหา แม้ว่าในเด็กส่วนใหญ่ที่อายุมากกว่า 6 ขวบ จะสามารถสอนให้ทานยาเม็ดได้เองแล้ว แต่เด็กยังคงเลี่ยงการทานยาเม็ดจนกระทั่งเป็นวัยรุ่น หากยาที่ต้องใช้ในการรักษาไม่มีวางจำหน่ายในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็ก ก็จะเกิดปัญหาเด็กไม่อยากทานยาเม็ดตามมา ทำให้การปรับเปลี่ยนยาเม็ดให้อยู่ในรูปแบบที่เด็กสามารถทานได้ง่ายขึ้น กลายเป็นหน้าที่หนึ่งของบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ปกครองไปแล้ว

วิธีบดเม็ดยาแล้วผสมในอาหารหรือเครื่องดื่มก่อนให้เด็กทาน อาจส่งผลต่ออัตราการดูดซึมยา การศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาหลายตัวพบว่า การทำเช่นนี้ส่งผลลดค่าชีวประสิทธิผล (bioavailability) ของยา ส่วนการหักแบ่งเม็ดยาให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ได้ขนาดยาที่เหมาะสำหรับเด็ก สามารถทำได้กับยาบางชนิดเท่านั้น โดยการทำเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของขนาดยาที่ได้รับในแต่ละครั้ง หากการหักแบ่งทำอย่างไม่แม่นยำ โดยเฉพาะยาที่มีช่วงดัชนีในการรักษาแคบ (narrow therapeutic index) ควรต้องระวังเป็นพิเศษ

การเตรียมยาน้ำหรือยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายโดยเภสัชกร ก็สามารถทำให้เกิดความแปรปรวนได้เช่นกัน หากวิธีในการเตรียมยาแตกต่างกัน แม้แต่การใช้ส่วนประกอบที่มาจากแหล่งที่ต่างกัน ก็อาจส่งผลต่อความคงตัวของยา และคุณลักษณะต่างๆ ของยาเตรียมได้ รวมไปถึงปัญหาการใช้แอลกอฮอล์ในการเตรียมยามากเกินไป อาจก่อให้เกินอันตรายต่อเด็กเล็กได้

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ต้องมีการพัฒนารูปแบบเภสัชภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก และยังให้ผลการรักษาและความปลอดภัยที่ดี รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เริ่มนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน (extended release oral suspensions) ยาเม็ดแตกตัวในช่องปาก (orally disintegrating tablets) และแผ่นฟิล์มละลายในช่องปาก (orodispersible films)

ข้อเสียอย่างหนึ่งของยาน้ำ คือ จะต้องรับประทานหลายรอบต่อวัน ซึ่งอาจไม่สะดวกนัก ยาที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดที่ออกแบบให้ออกฤทธิ์นาน ก็มีเพียงยาเม็ดหรือยาแคปซูลเท่านั้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 2005 Zmax (azithromycin) รูปแบบยาน้ำเชื่อมแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน (extended release oral suspensions) ตัวแรกก็ออกวางจำหน่าย การเลือกใช้ยาในรูปแบบนี้จึงช่วยให้เด็กทานยาได้ง่ายขึ้น โดยรับประทานน้อยครั้งกว่ายาน้ำแขวนตะกอนแบบเดิม ส่วนยาเม็ดแตกตัวในช่องปาก (orally disintegrating tablets)นั้น จะแตกตัวทันทีเมื่อสัมผัสกับน้ำลาย โดยไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเพิ่ม เหมาะกับผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถกลืนเม็ดยาได้ และผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน (dysphagia) ยกตัวอย่างยาที่มีใช้อยู่ เช่น Orapred ODT (prednisolone) ซึ่งนับว่าเป็นยาที่มีรสขม ยากแก่การกลบกลิ่นรส การพัฒนายาเม็ดแตกตัวในช่องปากของ Orapred ODT นี้ จึงต้องใช้โพลิเมอร์สามชั้นเพื่อช่วยกลบกลิ่นรส ส่วนรูปแบบเภสัชภัณฑ์อีกตัวที่น่าสนใจ คือ แผ่นฟิล์มละลายในช่องปาก (orodispersible films) ออกแบบมาเพื่อใช้นำส่งยาประกอบด้วยโพลิเมอร์ hydrophilic ที่ละลายอย่างรวดเร็วในช่องปาก สามารถวางแผ่นฟิล์มบนลิ้นเพื่อให้ดูดซึมผ่านทางเดินอาหาร วางใต้ลิ้นหรือตามแนวกระพุ้งแก้มเพื่อให้ได้วิธีดูดซึมที่แตกต่างออกไป

การพัฒนาเภสัชภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก นับเป็นแนวทางการวิจัยที่น่าสนใจ เพื่อแก้ปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาในเด็กได้ในอนาคต



Key words: Drug delivery system, pediatric, extended release oral suspensions, orally disintegrating tablets, orodispersible films

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Drug delivery system pediatric extended release oral suspensions orally disintegrating tablets orodispersible films
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้