โรคอีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Varicella zoster (VZV) เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายโดยการสูดหายใจเอาละอองฝอยของสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น เวลาไอหรือจามเข้าไป หรือสัมผัสกับตุ่มน้ำบนผิวหนังโดยตรงโรคอีสุกอีใสมักพบบ่อยในเด็ก และมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง หลังจากที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต[1]
อาการ
เริ่มแรกจะมีอาการปวดหัว มีไข้ปวดเมื่อยเบื่ออาหารเกิดผื่นแดง หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัวภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากเป็นอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในร่างกายและเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เชื้อจะทำให้เกิดโรคงูสวัดได้[2]
รายงานจากสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค
มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2552 มีผู้ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสจำนวน 89,246 รายทั่วประเทศและเสียชีวิต 4 ราย และในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตปีละ 1-3 ราย เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่ากลุ่มอายุ 5-9 ปี มีอัตราป่วยสูงสุดเท่ากับ 578.95 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี, 10-14 ปีและกลุ่มอายุมากกว่า 15 ปี โดยมีอัตราป่วยเท่ากับ 487.13, 338.45 และ 58.81 ตามลำดับจากข้อมูล 10 ปีย้อนหลังพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสมีแนวโน้มสูงขึ้น[3]
โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันทำมาจากเชื้ออีสุกอีใสที่มีชีวิตแล้วนำมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ในประเทศไทยมีจำหน่าย 3 ชนิด คือ Varilrix ในวัคซีน 1 เข็มมีเชื้อไม่ต่ำกว่า 2,000 PFU, OKAVAX ในวัคซีน 1 เข็มมีเชื้อไม่ต่ำกว่า 1,000 PFU, และ Varicella Vaccine-GCC ในวัคซีน 1 เข็มมีเชื้อไม่ต่ำกว่า 1,400 PFU[4]
ในปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสให้อยู่ในรูปวัคซีนรวม ได้แก่ วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) ซึ่งจะรวมอยู่ในเข็มเดียวกันทำให้สะดวก และไม่ต้องเจ็บตัวมากขึ้น
ประสิทธิภาพของวัคซีน
จากการศึกษาในเด็กอายุ 1-12 ปี หลังได้รับวัคซีนครั้งแรก จะมีภูมิคุ้มกันในระดับที่ป้องกันโรคได้ร้อยละ 85และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 99.6 หลังได้รับวัคซีนครั้งที่ 2[5]
วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใสโดยรวมได้ร้อยละ 70-90 และป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ร้อยละ 95[6] เมื่อติดตามภายหลังได้รับวัคซีน 10 ปี ในเด็กอายุ 1-12 ปี พบว่าในเด็กที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง จะมีอัตราการเกิดโรคอีสุกอีใสร้อยละ 7.3 และ 2.2 ตามลำดับ และส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำจะเกิดขึ้นในช่วง 2-5 ปีแรกโดยพบว่าในเด็กที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง จะมีอัตราการกลับเป็นซ้ำร้อยละ 8.5% และ 3.1% ตามลำดับแสดงว่าเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 ครั้ง จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอีสุกอีใส และมีอัตราการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่าเด็กที่ฉีดเพียง 1 ครั้ง และหลังได้รับวัคซีนพบว่าผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำทั้งๆ ที่ได้รับวัคซีน มักจะมีอาการ และจำนวนผื่นน้อย และอาการทั้งหมดจะทุเลาลงเร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน[5]
ในรายที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรค ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนภายใน 3 วันแรก หลังสัมผัสโรค พบว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ประมาณร้อยละ 90[7]
ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสบ้างจะต้องให้กี่ครั้งอย่างไร
ในเด็กที่ยังไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนควรแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส 2 ครั้ง โดยครั้งแรกแนะนำให้ฉีดเมื่ออายุ 12-18 เดือน และฉีดครั้งที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี หรือเว้นระยะห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปจะให้ฉีดวัคซีนเช่นกัน 2 ครั้ง แต่ให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์[4]
เอกสารอ้างอิง