หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วิตามินซีกับการป้องกันหวัด

โดย นศภ. ปฏิมา บุญมาลี เผยแพร่ตั้งแต่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2557 -- 321,945 views
 

วิตามินซี คือ?

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวิตามินซีกันก่อน “วิตามินซี” หรือ กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) เป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ วิตามินซีมีประโยชน์มากมาย เช่นใช้รักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และวิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน แต่ประโยชน์ของวิตามินซีที่กล่าวถึงกันมากคือป้องกันหวัด

วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ?

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันไม่สามารถป้องกันหวัดได้ และไม่มีผลลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด ยกเว้นผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้ถึง 50% อย่างไรก็ตามพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันจะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ ขนาดวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดคือ 1-3 กรัมต่อวัน และในผู้ที่ไม่เคยรับประทานวิตามินซีมาก่อน หากเป็นหวัดแล้วจึงเริ่มรับประทานวิตามินซี จะไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เลย

การดูดซึมวิตามินซี

การดูดซึมของวิตามิซีขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง แต่การดูดซึมวิตามินซีมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึม กล่าวคือการรับประทานวิตามินซีปริมาณมากเกินจุดอิ่มตัวของการดูดซึม ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีไปใช้ได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การรับประทานวิตามินซีครั้งละ1,000-1,500 มิลลิกรัม พบว่าร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีได้เพียง 50% นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของวิตามินซีที่รับประทานต่อครั้งมีผลต่อการดูดซึม คือการรับประทานวิตามินซีขนาดสูงร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยกว่าการรับประทานวิตามินซีขนาดต่ำ ดังนั้นการรับประทานวิตามินซีวันละหลายครั้งในขนาดที่ต่ำกว่า 1 กรัม จนครบขนาดที่แนะนำต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินซีได้มากกว่าการรับประทานทั้งหมดในครั้งเดียว นอกจากนี้ปริมาณการดูดซึมวิตามินซียังอาจแตกต่างกันไปขึ้นกับรูปแบบและส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์วิตามินซีในท้องตลาดมีอะไรบ้าง?

เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีได้เอง ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับจากการรับประทานผักและผลไม้ แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วิตามินซีวางจำหน่ายอยู่หลากหลายขนาดและรูปแบบ ได้แก่

1. รูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน: มีขนาดตั้งแต่ 25 ถึง 1,000 มิลลิกรัม แต่วิตามินซีสำหรับผู้ใหญ่ที่นิยมมี 2 ขนาดคือ 500 และ 1,000 มิลลิกรัม โดยขนาด 500 มิลลิกรัม บางบริษัทจะทำให้อยู่ในรูปแบบ buffered ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบทั่วไปคือ วิตามินซีจะถูกปลดปล่อยออกจากเม็ดยาอย่างช้าๆ แต่ระดับวิตามินซีในกระแสเลือดเมื่อรับประทานรูปแบบ buffered ไม่แตกต่างจากรูปแบบเม็ดทั่วไปที่มีการปลดปล่อยทันที อย่างไรก็ตามรูปแบบ buffered จะระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ารูปแบบเม็ดที่มีการปลดปล่อยทันที จึงอาจเป็นผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ข้อเสียของรูปแบบเม็ดแบบนี้คือเม็ดยามีขนาดใหญ่ กลืนลำบาก

2. รูปแบบเม็ดอม: มีขนาด 25, 50, 100 และ 500 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยา แต่เนื่องจากวิตามินซีเป็นกรดเมื่ออมบ่อยๆ อาจทำให้ฟันกร่อนได้ เนื่องจากกรดทำให้เคลือบฟันบางลง

3. รูปแบบเม็ดเคี้ยว: มีขนาด 30 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับเด็ก ซึ่งมีการแต่งสีและรสของวิตามินซีให้น่ารับประทาน หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจทำให้ฟันผุได้ เนื่องจากวิตามินซีในรูปแบบนี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง

4. รูปแบบเม็ดฟู่: มีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม จะแตกต่างจากรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทานทั่วไปคือ ต้องนำเม็ดยาไปละลายน้ำก่อน เมื่อเม็ดยาสัมผัสกับน้ำ จะเกิดเป็นฟองฟู่ ก่อนรับประทานจึงควรรอให้ฟองหมดก่อน เนื่องจากฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้อืดแน่นท้อง ซึ่งรูปแบบเม็ดฟู่นี้เป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยาหรือไม่สามารถกลืนเม็ดยาขนาดใหญ่ได้

5. รูปแบบแคปซูล: มีขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีทั้งชนิดแคปซูลแข็งและแคปซูลนิ่ม โดยส่วนใหญ่การกลืนเม็ดแคปซูลทำได้ง่ายกว่ารูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน

6. รูปแบบสารละลายสำหรับฉีด: มีขนาด 500 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำทุกวันหรือเพื่อป้องกันหวัด เพราะต้องให้แพทย์หรือพยาบาลฉีดยาให้

วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) และ เกลือของกรดแอสคอร์บิก (mineral ascobate)

เกลือของกรดแอสคอร์บิกมีสมบัติเป็น buffered มีความเป็นกรดน้อยกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก จึงมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ากรดแอสคอร์บิก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น เคยมีอาการมวนท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานวิตามินซี หรือท้องเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและความคงตัวของวิตามินซี เกลือของกรดแอสคอร์บิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ โซเดียม แอสคอร์เบท (sodium ascorbate) แคลเซียม แอสคอร์เบท (calcium ascorbate) โพแทสเซียม แอสคอร์เบท (potassium ascorbate) แมกนีเซียม แอสคอร์เบท (magnesium ascorbate) ซิงค์ แอสคอร์เบท (zinc ascorbate) โมลิบดินัม แอสคอร์เบท (molybdenum ascorbate) โครเมียม แอสคอร์เบท (chromium ascorbate) และ แมงกานีส แอสคอร์เบท (manganese ascorbate) เป็นต้น แต่การเลือกใช้ควรคำนึงถึงสภาวะหรือโรคประจำตัวของผู้บริโภค เนื่องจากเกลือต่างๆ นี้จะถูกดูดซึมไปพร้อมกับวิตามินซีด้วย ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทาน เช่น โซเดียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือต้องจำกัดปริมาณโซเดียม หรือกรณี โพแทสเซียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังในผู้ที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น

วิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoids)

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นวิตามินซีจากธรรมชาติ นอกจากวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกแล้ว ในผลิตภัณฑ์ยังมีส่วนผสมของสารประกอบจากธรรมชาติอื่นคือ ไบโอฟลาโวนอยด์ จากการศึกษาพบว่าไบโอฟลาโวนอยด์มีผลเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี อย่างไรก็ตามบางการศึกษายังไม่พบประโยชน์ของไบโอฟลาโวนอยด์ในการช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี

ความแตกต่างระหว่างวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกและวิตามินซีเอสเทอร์

วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกโดยทั่วไปมีสมบัติเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ส่วนวิตามินซีเอสเทอร์ เช่น แอสคอร์บิล ปาล์มิเตต (ascorbyl palmitate) เป็นรูปแบบที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีข้อดีคือทำให้วิตามินซีดูดซึมทั้งในลำไส้และซึมผ่านผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีความคงตัวดีกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก ปัจจุบันนิยมใช้เตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกทั้งบริเวณผิวหนังและใบหน้า

เอสเทอร์-ซี (Ester-C®) และวิตามินซีเอสเทอร์

หลายคนคงอาจสับสนว่า Ester-C® และวิตามินซีเอสเทอร์ เป็นวิตามินซีรูปแบบเดียวกัน แต่ที่จริงแล้ว Ester-C® คือผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วย แคลเซียม แอสคอร์เบท เป็นส่วนใหญ่ในตำรับ ซึ่งวิตามินซีในผลิตภัณฑ์ Ester-C® จัดว่าเป็นวิตามินซีชนิดละลายน้ำ แต่วิตามินซีเอสเทอร์เป็นวิตามินซีละลายในไขมันและมีสมบัติดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อข้างต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์วิตามินซีมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่นิยมใช้สำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัด คือรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน แคปซูล และเม็ดฟู่ ที่มีปริมาณวิตามินซีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบหรือขนาดอื่นอาจไม่สะดวกต่อการรับประทาน และนอกจากนี้ขนาดวิตามินซีที่เหมาะสำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดเป็นขนาดที่ค่อนข้างสูงคือ 1-3 กรัมต่อวัน ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่มีปริมาณวิตามินซีน้อยอาจต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเลือกรับประทานวิตามินซีควรพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการแต่ละบุคคลและวัตถุประสงค์ของการรับประทาน

เอกสารอ้างอิง

1. Douglas RM, Hemila H, Chalker E, Treacy B. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database Syst Rev 2007; (3):CD000980.

2. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug information handbook. 19th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2010-11.

3. Pubmed health. Vitamin C. Available at : http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0003056/ . Accessed July 19 2014.

4. Nyyssonen K, Poulsen HE, Hayn M, Agerbo P, Porkkala-Sarataho E, Kaikkonen J, et al. Effect of supplementation of smoking men with plain or slow release ascorbic acid on lipoprotein oxidation. Eur J Clin Nutr 1997; 51(3):154-163.

5. Viscovich M, Lykkesfeldt J, Poulsen HE. Vitamin C pharmacokinetics of plain and slow release formulations in smokers. Clin Nutr 2004; 23(5):1043-1050.

6. มังกร ประพันธ์วัฒนะ. สาระ-ปัน-ยา 3. นนทบุรี. สภาเภสัชกรรม. 2555.

7. Vinson JA, Bose P. Comparative bioavailability to humans of ascorbic acid alone or in a citrus extract. Am J Clin Nutr 1988; 48(3):601-604.

8. Carr AC, Vissers MC. Synthetic or food-derived vitamin C-are they equally bioavailable? Nutrient 2013; 5(11):4284-4304.

9. Johnston CS, Luo B. Comparison of the absorption and excretion of three commercially available sources of vitamin C. J Am Diet Assoc 1994; 94(7):779-781.

10. Austria R1, Semenzato A, Bettero A. Stability of vitamin C derivatives in solution and in topical formulations. J Pharm Biomed Anal 1997; 15(6):795-801.

11. Linus Pauling Institute [Internet]. The bioavailability of different forms of vitamin C (ascorbic acid); c2000-14 [cited 2014 Jul 29]. Available from: http://lpi.oregonstate.edu/infocenter/vitamins/vitaminC/vitCform.html.

12. Vitamin C [Internet]. Available at: http://www.exrx.net/Nutrition/Antioxidants/VitaminC.html. Accessed March 2, 2011.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
วิตามินซี หวัด สารต้านอนุมูลอิสระ antioxidant ascorbic acid
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้