หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาบำรุงเลือด FBC และ folic acid มีข้อบ่งใช้เหมือนกันหรือไม่ครับและมีข้อห้ามใน กรณีไหนบ้างครับ ขอบคุณมากครับ

ถามโดย กิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 04/05/2011-13:18:16 -- 321,143 views
 

คำตอบ

FBC มีส่วนประกอบได้แก่ Fe fumarate 200 mg (เทียบเท่า Iron element 66 mg) , Vitamin B1 2 mg , Vitamin B2 2 mg , Vitamin B12 5 mcg , VitaminC 20 mg , Niacin 10 mg , Folic acid 100 mcg และ phosphate tribasic 100 mg มีข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันและรักษาผู้ป่วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก, ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์ หรือเป็นธาตุเหล็กเสริมในหญิงตั้งครรภ์ Folic acid ประกอบด้วย folic acid 5 mg มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่มีภาวะขาด Folic acid, ภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia, ภาวะโลหิตจางจากการขาด Folic acid, ป้องกันภาวะ Neural Tube Defect (NTD) ในหญิงตั้งครรภ์ จุดที่ต่างกันซึ่งเป็นข้อควรระวังในการใช้ยา FBC หรือยา folic คือการใช้ยาในโรคโลหิตจางบางชนิด (โรคโลหิตจางมีหลายชนิดและเกิดได้จากหลายสาเหตุ) เนื่องจากอาการเบื้องต้นของโรคโลหิตจางชนิดต่างๆ นั้นเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ส่วนมากมักมีอาการซีดและอ่อนเพลียง่าย แต่จะมีโรคโลหิตจางชนิดที่ไม่ควรใช้ยา FBC ซึ่งก็คือโรคโลหิตจางที่เกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตก เช่นโรคธาลัสซีเมีย เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก จะทำให้ธาตุเหล็กที่สะสมอยู่ในเม็ดเลือดถูกปลดปล่อยออกมา เหล็กเหล่านี้จะเป็นส่วนเกินไปสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นเมื่อมีเหล็กมากเกินในกระแสเลือดอยู่แล้วจึงไม่ควรหรือห้ามรับประทานยากลุ่มที่มีส่วนประกอบของเหล็ก (ferrous) เพิ่มเข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทาน folic เสริมเพื่อช่วยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่แทน (ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการให้เลือดทดแทน) (Ref 1.) ดังนั้นหากผู้ป่วยที่มีอาการซีดและอ่อนเพลียง่ายและสงสัยว่าอาจจะเกี่ยวข้องเป็นโรคโลหิตจางแต่ไม่ทราบว่าตัวเองมีความผิดปกติหรือเป็นโลหิตจางชนิดใด จึงไม่ควรซื้อยาหรือแบ่งยาจากญาติหรือคนรู้จักมารับประทานเองนะคะ เพิ่มเติมสำหรับกรณีการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ Folic acid นั้นสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ตลอดระยะการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะความผิดปกติในการสร้างสมองและไขสันหลังของเด็ก โดยควรแนะนำให้ใช้ folic acid 0.4-0.5 มก/วัน โดยควรเริ่มทานติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ และสามารถทานต่อเนื่องได้ตลอดการตั้งครรภ์ สำหรับ FBC นั้นให้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อเป็นการเสริมธาตุเหล็ก โดยความต้องการปริมาณเหล็ก (iron element) ที่ต้องการต่อวันในหญิงตั้งครรภ์เท่ากับ 27 มก/วัน (Ref 2.) เพราะในช่วงตั้งครรภ์มารดามีความต้องการเหล็กเพิ่มขึ้นมากเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของมารดาและเด็กและ เป็นการป้องกันภาวะโลหิตจางซึ่งอาจส่งผลต่อทารก ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวทารกต่ำ หรือภูมิต้านทานโรคต่ำ ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลาที่ให้ขึ้นอยู่กับการได้รับธาตุเหล็กของมารดาแต่ละคนว่ามีโอกาสได้รับเหล็กจากอาหารมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไปอาหารที่รับประทานรวมกันแต่ละวันมักไม่เพียงพอต่อความต้องการแพทย์จึงนิยมให้มารดาตั้งครรภ์ทานเหล็กเสริมร่วมด้วยเสมอ

Reference:
Reference
1. นภชาญ เอื้อประเสิรฐ, อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ Essential hematology for general practitioners 2552 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
2. Lexicom. Drug Information Handbook. 19th edition 2010-2011

Keywords:
-





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้